เช็กความพร้อมรับสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง และการแจ้งเตือนภัยของไทยสกัดภัยต่อชีวิต-ทรัพย์สิน

             ปัจจุบันเหตุการณ์สภาพอากาศที่ผิดปกติ และภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และรุนแรงมากขึ้นส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาคสังคม-เศรษฐกิจของประเทศ โดยเหตุลักษณะนี้มีผลวิจัย ระบุชัดว่าเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับความผันแปรตามธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือกิจกรรมของมนุษย์
จนเกิดทั้งภาวะเรือนกระจก และภาวะโลกร้อนเพิ่มขึ้น

              โดยประเทศไทยมีภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันแบ่งได้ 8 ชนิด คือ พายุหมุนโซนร้อน แผ่นดินไหว อุทกภัย พายุฤดูร้อน แผ่นดินถล่ม คลื่นพายุซัดฝั่ง ไฟป่า และฝนแล้ง โดยอนาคตภัยทั้งหมดมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากขึ้น

big-forest-fire-pine-stand.jpg

             กรมอุตุนิยมวิทยาจึงจัดตั้งศูนย์ภูมิอากาศขึ้นเพื่อติดตามภูมิอากาศที่มีความผันแปร และความเปลี่ยนแปลงอันเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ของมนุษย์ สัตว์ และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ

             ทั้งนี้ การดำเนินการของศูนย์ภูมิอากาศจะพยากรณ์อากาศโดยใช้ข้อมูลทางสถิติ และเครื่องมือ Climate Predictability Tool (CPT) ที่สถาบันวิจัย IRI  (International Research Institute for Climate and Society, The Earth Institute of Columbia University) พัฒนาขึ้นร่วมกับข้อมูลจาก
GCM (Global Climate Model) ซึ่งเป็นการคาดการณ์โดยอาศัยผลการพยากรณ์อุณหภูมิน้ำทะเลเป็นหลักเปรียบเทียบข้อมูลในอดีตโดยการวัด และข้อมูลฝนของประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2519 จนถึงปัจจุบันมาทำการวิเคราะห์ และรายงานลักษณะอากาศ

             อย่างไรก็ตาม ศูนย์ภูมิอากาศจะเป็นศูนย์กลางและแหล่งข้อมูลข่าวสารด้านภูมิอากาศของประเทศ ซึ่งจะมีการสรุปลักษณะอากาศรายสัปดาห์
รายเดือน รายปี และพยากรณ์อากาศระยะนานที่วิเคราะห์ผลผลิตจากแบบจำลองสารประกอบอุตุนิยมวิทยา และข้อมูลภูมิอากาศ และรายงานตามกรอบเวลาที่กำหนด เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านภูมิอากาศแก่ประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับวางแผน และตัดสินใจ
เฝ้าระวังก่อนเกิดเหตุป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิต และทรัพย์สิน

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา 
เบอร์โทรศัพท์: 1182


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,294,483