Weisse-ไวส์เซ่ นวัตกรรมครีมกันแดดผลึกหกเหลี่ยม

     ประเทศไทยถือเป็นประเทศในเขตร้อนที่มีอุณหภูมิสูง และประชากรต้องเผชิญกับแสงแดดรุนแรง ทำให้มีความเสี่ยงเกิดมะเร็งผิวหนัง โดยเฉพาะชนิดไฝดำ การปกป้องผิวด้วยการทาครีมกันแดดทุกครั้งก่อนออกจากบ้านจึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยปัจจุบันคนไทยมีปัญหาสุขภาพผิวที่เกิดจากรังสียูวี ทำให้ผิวเป็นฝ้า กะ จุดด่างดำ ผิวเหี่ยวหย่นก่อนวัยอันควร และผิวคนไทยส่วนใหญ่มีสภาพมัน และ T - Zone เวลาใช้ครีมกันแดดจะมีปัญหาหน้า หรือผิวขาวเกินไป ต้องทาซ้ำระหว่างวัน มักก่อให้เกิดการอุดตัน เป็นสิวง่าย ซึ่งเป็นผลมาจากสารที่ใช้ในครีมกันแดดทั่วไปทำให้เนื้อครีมเหนียว และมีโมเลกุลของสารเป็นทรงกลม เมื่อโมเลกุลมาชนกันจะเกิดช่องว่างหรือรอยต่อ ทำให้ UV ทะลุไปทำลายผิวได้

     นักวิจัยไทยได้พัฒนานวัตกรรมครีมกันแดด “Weisse - ไวส์เซ่” ที่ใช้องค์ความรู้ด้านนาโนเทคโนโลยีในการพัฒนาครีมกันแดดจากนาโนแคลเซียมคาร์บอเนตที่มีลักษณะเป็น “ผลึกหกเหลี่ยม” ทำให้โมเลกุลของสารชนกันได้สนิทแบบไร้ช่องว่าง ช่วยปกป้องผิวจากรังสี UV ได้ประสิทธิภาพสูงสุด นวัตกรรมที่ว่านี้พัฒนาโดย ดร.จรัสพัฒน์ พฤกษารัตนวุฒิ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

     ทีมวิจัยได้มุ่งมั่นพัฒนาครีมกันแดดที่เหมาะสมกับผิวคนไทย และแก้ปัญหา และข้อจำกัดของครีมกันแดดในปัจจุบัน ด้วยที่ลักษณะเป็น “ผลึกหกเหลี่ยม” เมื่ออนุภาคของผลึกมาชนกันจะชนกันได้สนิท โอกาสที่จะเกิดช่องว่างจึงลดลง และด้วยมุมผลึกหกเหลี่ยมของนาโนแคลเซียมคาร์บอเนตทำให้กระจายแสง หรือสะท้อนแสงได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยปรับผิวให้สว่างใสอย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้น ที่สำคัญธรรมชาติของสารผลึกหกเหลี่ยมยังช่วยให้เนื้อครีมบางเบา ไม่เหนียวเหนอะหนะ และล้างออกได้ง่ายเพียงใช้สบู่อ่อนหรือโฟมล้างหน้า ช่วยลดการอุดตันของรูขุมขน และไม่ทำให้เกิดสิว

     ครีมกันแดด Weisse ไม่เพียงโดดเด่นด้วยนวัตกรรมผลึกหกเหลี่ยมที่ช่วยกันแดดได้อย่างล้ำลึก แต่ยังมีส่วนประกอบของสารบำรุงผิวที่เป็นสารสกัดจากธรรมชาติ เช่น Alpha arbutin, Vitamin C อีกทั้งใช้เทคโนโลยี Encapsulation ในการกักเก็บสารบำรุงให้มีความคงตัว นำส่งและปลดปล่อยสารสู่เซลล์ได้ตามเป้าหมาย ช่วยบำรุงผิวจากภายใน เป็นผลให้ฝ้า กระ จุดด่างดำดูจางลง และทำให้ผิวแลดูกระจ่างใสขึ้นด้วย

ข้อมูล ณ วันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2566
แหล่งที่มา : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
เบอร์ติดต่อ : 0 2564 8000


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,296,997