“กระจกตาชีวภาพจากจากสเต็มเซลล์ (Stem Cell)” ความหวังเปลี่ยนกระจกตา ไม่ต้องรอรับบริจาค

     การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา คือ การผ่าตัดนำกระจกตาส่วนที่มีรอยโรคออก และปลูกถ่ายกระจกตา ที่ปกติต้องรอรับกระจกตาจากผู้บริจาคดวงตา  โดยการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาเหมาะสำหรับผู้ป่วย ที่มีการมองเห็นผิดปกติ อันเนื่องมาจากโรคของ กระจกตาที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยยา หรือเครื่องมือทางการแพทย์อื่น ๆ

     “กระจกตาชีวภาพ จากสเต็มเซลล์ (Stem Cell)” ถูกพัฒนาโดยทีมวิจัยไมโครอะเรย์แบบครบวงจร ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ บริษัทรีไลฟ์ จำกัด (ReLIFe Co., Ltd.) หนึ่งใน NSTDA Startup ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อใช้ทดแทนกระจกตาบริจาค และลดความเสี่ยงจากการใช้กระจกตาจากผู้อื่น หรือวัสดุเทียม แม้กระจกตา จะเป็นอวัยวะที่สามารถรับบริจาคได้ มีผลข้างเคียงต่ำ แต่การรับบริจาคเป็นเรื่องยาก สำหรับประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการแพทย์ไม่พร้อม เนื่องจากกระจกตามีอายุสั้น หากมีการจัดเก็บจากผู้เสียชีวิตล่าช้า หรือจัดเก็บด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสม จะทำให้กระจกตาเสื่อมสภาพทันที ทำให้ในหลายประเทศแม้ไม่มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนกระจกตา แต่ไม่สามารถบริจาคไปช่วยเหลือประเทศที่มีความต้องการได้ 

     ทีมวิจัยได้พยายามเลียนแบบลักษณะ และโครงสร้างภายในกระจกตา เพื่อให้มีลักษณะใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด โดยพัฒนากระจกตา ให้มีลักษณะเป็นเจลลีเสริมแรงเส้นใย “Fiber - reinforced hydrogel” ผ่านกระบวนการปั่นเส้นใยด้วยไฟฟ้าแรงสูง (Electrospinning) เพื่อนำเจลลี่ ที่มีลักษณะเหมือนกับกระจกตาของมนุษย์ มาใช้เป็นโครงเลี้ยงเซลล์ สำหรับนำไปผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาให้แก่คนไข้ หลังจากทั้งโครงเลี้ยงเซลล์ และ Stem cell เข้าไปยึดติดบนดวงตาแล้ว Stem cell จะค่อย ๆ กินโครงเลี้ยงเซลล์เป็นอาหารจนหมด และเติบโตขึ้นมาใหม่เป็นเซลล์กระจกตาตามธรรมชาติที่ มีลักษณะเหมือนกับโครงเลี้ยงเซลล์ทุกประการ ทำให้มีความปลอดภัย ไม่เกิดการต่อต้านจากร่างกาย

     การเปลี่ยนกระจกตาโดยใช้กระจกตาชีวภาพ ทำให้ผู้ป่วยได้ใช้กระจกตาที่ใสเหมือนกระจกตาของเด็กแรกเกิด แตกต่างจากกระจกตาที่รับบริจาคซึ่ งมีความขุ่นมัวตามอายุการใช้งานของผู้เสียชีวิต นอกจากนี้ยังมีจุดแข็งสำคัญ คือ ทีมวิจัยสามารถออกแบบการผลิต ให้ผลิตได้ทั้งแบบใช้งานทั่วไป และแบบจำเพาะกับลักษณะลูกตาของคนไข้ได้ด้วย

     การวิจัย และพัฒนากระจกตาชีวภาพ ยังได้รับการสนับสนุนด้านการเก็บเซลล์กระจกตา การทดสอบในสัตว์ รวมถึงการทดสอบในมนุษย์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จากอาจารย์และบุคลากรคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนทดสอบในสัตว์ทดลอง โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) หากการทดลองครั้งนี้ประสบความสำเร็จด้วยดี จะสามารถทดสอบในมนุษย์ได้ระยะถัดไป

แหล่งที่มา :  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
111 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 12120
เบอร์ติดต่อ : 0 2564 7000

ข้อมูลเพิ่มเติม


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,283,726