“บอทโรคข้าว (Rice Disease Bot)” แชตบอตช่วยเกษตรกรไทย วินิจฉัยโรคข้าวผ่านภาพถ่าย

    ปัจจุบันเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนในทุกสังคม ไม่เว้นแม้แต่ด้านการเกษตร ที่หลายหน่วยงานพยายามผลักดัน และพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ มาเป็นตัวช่วยเสริมให้กับเกษตรกรมากขึ้น เนื่องจากปัญหาของเกษตรกร ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน คือการแบกรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับผลผลิต ทั้งปัญหาภัยธรรมชาติ ปัญหาน้ำแล้ง หรือโรคพืช 

     “บอทโรคข้าว (Rice Disease Bot)” เป็นหนึ่งในนวัตกรรมจากการบูรณาการความเชี่ยวชาญระหว่างองค์กรเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมให้เป็นสาธารณประโยชน์แก่เกษตรกร เพื่อใข้วินิจฉัยโรคข้าวผ่านภาพถ่าย   

     “บอทโรคข้าว (Rice Disease Bot)” เป็นระบบแชทบอทสำหรับให้บริการวินิจฉัยโรคด้วยปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI)  ใช้งานได้ง่ายผ่านแอปพลิเคชัน LINE ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ต่างใช้งานจนคุ้นเคยอยู่แล้ว เมื่อเกษตรกรพบเห็นความผิดปกติของต้นข้าวในแปลงนา สามารถส่งข้อมูลให้ระบบวินิจฉัยโรคได้ทันที เพียงถ่ายภาพรอยโรคที่เกิดขึ้นบนต้นข้าว จากนั้นส่งภาพเข้าสู่หน้าแชต ระบบจะดึง

     ภาพไปยังคลาวด์ และส่งให้ AI วิเคราะห์โรคด้วยเทคนิคเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) เมื่อได้ผลแล้วระบบจะส่งผลการวิเคราะห์ พร้อมคำแนะนำในการควบคุมโรคอย่างเหมาะสม และรายงานกลับมาให้เกษตรกรทราบภายใน 3 - 5 วินาที ช่วยให้เกษตรกรประหยัดเวลา และค่าใช้จ่าย ในการตรวจสอบโรคข้าวที่เกิดขึ้นในแปลงนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเลือกใช้ยาที่ถูกต้องตรงกับอาการของพืชได้ เป็นการลดต้นทุนการใช้สารเคมี และยกระดับผลผลิตข้าวไทยให้มากขึ้น

     ปัจจุบัน “บอทโรคข้าว (Rice Disease Bot)” ให้บริการวิเคราะห์โรคข้าวที่สำคัญในไทย 10 โรค ได้แก่ โรคไหม้ โรคขอบใบแห้ง โรคใบจุดสีน้ำตาล โรคใบขีดสีน้ำตาล โรคใบขีดโปร่งแสง โรคไหม้คอรวง โรคดอกกระถิน โรคใบวงสีน้ำตาล โรคเมล็ดด่าง และโรคใบหงิก 

     ทั้งนี้ได้เปิดให้เกษตรกร ศูนย์ข้าวชุมชน หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงภาคเอกชน ทดลองใช้บริการแล้วผ่าน “กลุ่มบอทโรคข้าวของแต่ละจังหวัด” ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านโรคข้าว ตรวจทานความถูกต้องของผลการวินิจฉัย รวมถึงช่วยตอบข้อสงสัย และให้คำแนะนำเพิ่มเติมแก่เกษตรกรด้วย

     นอกจากโรคข้าว ที่เป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อจำนวนผลผลิตในแต่ละรอบอย่างมากแล้ว ยังมีปัญหาอีกหลายด้านที่เกษตรกรต้องเผชิญ เช่น แมลงศัตรูพืช การขาดธาตุอาหาร ดังนั้นแล้วแพลตฟอร์มนี้ ยังมีการพัฒนาระบบต่อไป เพื่อให้ครอบคลุมความต้องการของเกษตรกรมากยิ่งขึ้น

แหล่งที่มา :  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
111 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 12120 
เบอร์ติดต่อ : +66 2564 7000
ข้อมูลเพิ่มเติม


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,290,806