เปิดกฎหมายภาษี E-Service ที่ผู้พัฒนาแพล็ตฟอร์มดิจิทัลควรรู้

       ปัจจุบันธุรกิจแพล็ตฟอร์มออนไลน์ที่ฮิตติดลมบน และมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้นในทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วยนั้น จึงทำให้มีหลายบริษัททั้งในไทยและต่างประเทศ เร่งพัฒนาการให้บริการแพล็ตฟอร์มบนระบบออนไลน์ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าในยุคดิจิทัล 

       โดยแพลตฟอร์มบนออนไลน์มีหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ อาหาร เครื่องดื่ม โฆษณา เพลง หนัง เกม การขายสินค้าออนไลน์ แพลตฟอร์มจองที่พัก ตั๋วโดยสาร และอื่น ๆ อีกมากมาย แต่เม็ดเงินหลายล้านบาทที่เกิดจากผู้ใช้บริการเหล่านี้ในประเทศไทยไม่ได้นำกลับมาสู่ประเทศ 

       กรมสรรพากรกระทรวงการคลัง จึงอาศัยอำนาจพระราชบัญญัติแก้ไข เพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ. 2564 กำหนดให้ผู้ประกอบการที่ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ และอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มต่างประเทศ ที่มีรายรับเกินกว่า 1,800,000 บาทต่อปี จากการให้บริการแพล็ตฟอร์มแก่ผู้ใช้บริการในประเทศไทย มีหน้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและยื่นแบบแสดงรายการ รวมทั้งนำส่งภาษี มูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 ให้กับกรมสรรพากร

 

young-woman-mobile-phone-public-train.jpg

     

 ซึ่งภาษีดังกล่าว รู้จักในชื่อ ภาษี e-Service มีบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน ปี 2564 เหมือนกับที่นานาประเทศบังคับใช้กฎหมายนี้แล้ว

กว่า 60 ประเทศ เช่น อเมริกา อังกฤษ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย เป็นต้น  

       ทั้งนี้เพียง 5 เดือน (เดือนภาษีกันยายน 2564-เดือนภาษีมกราคม 2565) หลังบังคับใช้กฎหมายภาษี e-Service  มีแพลตฟอร์มผู้ให้บริการต่างประเทศ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มรวม 127 ราย โดยมียอดมูลค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์รวม 44,569.83 ล้านบาท  คิดเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บสะสมรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,120.03 ล้านบาท 

       พร้อมคาดภายใน 1 ปี จะจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้จากแพลตฟอร์ม ผู้ให้บริการต่างประเทศประมาณ 8,000-10,000 ล้านบาท สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมว่าจะจัดเก็บได้ที่ประมาณ 5,000 ล้านบาท 

       ขณะที่ในภาคของผู้ประกอบการแพลตฟอร์มต่างประเทศ ก็พบว่ามีรายได้หลังหักภาษีแล้ว และนำกลับประเทศรวม 44,595 ล้านบาท โดยมาจากการให้บริการโฆษณาออนไลน์มากที่สุดถึง 28,013 ล้านบาท รองมาคือการขายสินค้าออนไลน์จำนวน 11,982 ล้านบาท และแพลตฟอร์มเพลง หนัง และเกม มีรายได้ 4,023 ล้านบาท 

สำหรับนักลงทุนในธุรกิจแพลตฟอร์มจากต่างประเทศ หากสนใจเข้ามาประกอบธุรกิจในไทย หากคำนวณเม็ดเงินรายได้แล้วเกินกว่าปีละ 1,800,000 บาท ต้องนำส่งภาษี e-Service ให้ถูกต้อง โดยสามารถจดทะเบียน และดำเนินการทางภาษีผ่านระบบงานภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (VAT for Electronic Service : VES) บนเว็บไซต์ https://eservice.rd.go.th ของกรมสรรพากร

หมายเหตุ :  ภาพคนดูหนังฟังเพลงผ่านมือถือ,แพลตฟอร์มออนไลน์ พวก FB, Youtube, IG เป็นต้น 

ที่มา: กรมสรรพากร

เบอร์โทรศัพท์: 1161


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,295,706