ไทยเดินหน้ารับรองศูนย์เวลเนส (Wellness Center) สร้างมาตรฐานรองรับตลาดท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ

     ปัจจุบันคนไทยและชาวต่างชาติให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพกันมากขึ้น ทำการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพได้รับความนิยมอย่างมาก ขณะที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพในการผลักดันตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism)  ตอบรับกลุ่มนักท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ และกลุ่มวัยเกษียณอายุ  

     กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มีนโยบายขับเคลื่อนศูนย์เวลเนส (Wellness Center) ทั่วประเทศ ภายใต้โครงการ “ส่งเสริมรูปแบบการท่องเที่ยวศักยภาพสูงที่หลากหลายและโดดเด่น” เพื่อพลิกฟื้นตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และบริการการแพทย์ของประเทศไทย ให้เป็นที่ยอมรับระดับโลก

     การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นการท่องเที่ยวที่ทำให้เกิดการพักผ่อนหย่อนใจ ควบคู่กับการมารับบริการทางการแพทย์ บำบัดรักษาฟื้นฟูสุขภาพ หรือทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพควบคู่กัน และด้วยความโดดเด่นของประเทศไทย ทึ่มีภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร สามารถขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพโดยผสมผสานกับการแพทย์แผนปัจจุบันได้อย่างลงตัว

     จากการสำรวจของ Global Wellness Economy Monitor (October 2018) พบว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ควรได้รับการส่งเสริมและพัฒนาสู่ความเป็นเลิศให้มากขึ้น เนื่องจากประเทศไทยเป็นจุดมุ่งหมายปลายทางของการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้เข้าประเทศมากถึงอันดับที่ 13 ของโลก คิดเป็นมูลค่า 12 พันล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา โดยมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทยประมาณปีละ 12.5 ล้านครั้ง และมีการจ้างงานในอุตสาหกรรมนี้โดยตรง 5.3 แสนคน

     ในปี 2566 กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมมือกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และผู้ประกอบการ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการโครงการส่งเสริมรูปแบบการท่องเที่ยวศักยภาพสูงที่หลากหลายและโดดเด่น มุ่งหวังให้มี Wellness Center ทั่วประเทศ โดยได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้สถานประกอบการและแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เข้ารับการประเมินเพื่อยกระดับมาตรฐานการบริการ และสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยว

     ปัจจุบันมีการมอบใบประกาศนียบัตรรับรอง Wellness Center โดยมีผู้สมัครเข้าร่วมการประเมินทั้งสิ้นจำนวน 448 แห่ง มีผู้ประกอบการที่ผ่านการประเมินและได้รับการรับรอง รวมทั้งสิ้น 87 แห่ง ประกอบด้วย

  1. Wellness Center ประเภทที่พักนักท่องเที่ยว จำนวน 29 แห่ง 
  2. Wellness Center ประเภทภัตตาคาร จำนวน 15 แห่ง
  3. Wellness Center ประเภทนวดเพื่อสุขภาพ จำนวน 8 แห่ง 
  4. Wellness Center ประเภทสปาเพื่อสุขภาพ จำนวน 14 แห่ง 
  5. Wellness Center ประเภทสถานพยาบาล จำนวน 21 แห่ง 

     (อ้างอิงข้อมูล ณ วันที่ 24 เมษายน 2566)

     สำหรับสถานประกอบการ 5 ประเภท ได้แก่ ที่พักนักท่องเที่ยว, ร้านอาหารหรือภัตตาคาร, นวดเพื่อสุขภาพ, สปาเพื่อสุขภาพ และสถานพยาบาล ที่มีความประสงค์จะขอรับรองเป็น Wellness Center  หากอยู่ในส่วนภูมิภาคติดต่อที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ส่วนที่อยู่ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครติดต่อที่ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก หรือต้องการศึกษาข้อมูลเกณฑ์การประเมิน สามารถเข้าไปได้ที่ช่องทาง https://thaicam.go.th/wellness-center หรือหากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ กองการแพทย์ทางเลือก กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โทร. 0 2591 7007 ต่อ 2603

     ทั้งนี้ การตรวจมาตรฐาน Wellness จะเป็นการยืนยันให้นักท่องเที่ยวมั่นใจในการเข้ามาใช้บริการที่มีมาตรฐานและความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล และสามารถตอบสนองความต้องการของผู้มารับบริการ สอดรับการใช้ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) อันจะส่งผลถึงความพึงพอใจของผู้มารับบริการ และสามารถนำรายได้เข้าสู่ประเทศอีกทางหนึ่ง เพื่อช่วยพลิกฟื้นตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และให้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในระดับโลก 

 

ข้อมูล ณ วันที่ 2 พฤษภาคม 2566 

แหล่งที่มา : กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก  
สำนักนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 88/20 หมู่4 ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000

เบอร์ติดต่อ : 0 2590 1000

 

 

ข้อมูลเพิ่มเติม


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,291,444