ศาสตร์แผนไทยและสมุนไพรไทย หนึ่งในวิธีดูแลสุขภาพช่วง “ฤดูร้อน”

     ประเทศไทย ถือเป็นประเทศเมืองร้อน ที่ช่วงฤดูร้อนอาจต้องเผชิญอุณหภูมิสูงสุดในแต่ละวันมากกว่า 40 องศา ดังนั้นกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้แนะนำประชาชนดูแลสุขภาพด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย รับภาวะวิกฤตอากาศร้อน โดยชูตำรับยาหอม ตำรับยาสมุนไพร เมนูอาหาร และ เครื่องดื่มที่เหมาะจะรับประทาน แก้อาการโรคที่พบได้บ่อยในช่วงฤดูร้อน

สำหรับโรคที่มักจะเกิดในช่วงฤดูร้อน ได้แก่ อาการหน้ามืดเป็นลม โรคลมแดด (Heatstroke) โรคอุจจาระร่วงแบบเฉียบพลัน และ โรคผิวหนัง

  • กลุ่มอาการหน้ามืดเป็นลม หรือ มีอาการของโรคลมแดด (Heatstroke) แนะนำให้พกตำรับยาหอม ติดตัว มีสรรพคุณ ใช้แก้ลม บำรุงหัวใจ แก้ลมวิงเวียน คลื่นเหียนอาเจียน แก้จุกเสียด เป็นต้น และในช่วงฤดูร้อนแนะนำให้ประชาชนพกยาดมสมุนไพรติดตัวอยู่เสมอ เพื่อบรรเทาอาการหน้ามืดเป็นลม วิงเวียนศีรษะ ซึ่งสะดวกแก่การพกพา ใช้สูดดมเมื่อมีอาการ 
  • โรคอุจจาระร่วงแบบเฉียบพลัน ยาสมุนไพรที่แนะนำ ได้แก่ ยาเหลืองปิดสมุทร สรรพคุณ บรรเทาอาการท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น อุจจาระไม่เป็นมูก หรือมีเลือดปน และ ท้องเสียชนิดที่ไม่มีไข้ ยาธาตุบรรจบ สรรพคุณ บรรเทาอาการอุจจาระธาตุพิการ ท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ ท้องเสียชนิดที่ไม่มีไข้ กล้วยน้ำว้าดิบ หรือห่าม รับประทานครึ่งผล – 1 ผล หรือหั่น เป็นแว่น ๆ ตากให้แห้ง บดเป็นผง ชงดื่มวันละ 4 ครั้ง ก่อนอาหารและก่อนนอน และฟ้าทะลายโจร รักษาอาการท้องเสียแบบไม่ติดเชื้อ
  • การดูแลผิวพรรณในช่วงฤดูร้อน อาการพบได้บ่อย คือ ผด ผื่น คัน  ผิวไหม้จากการตากแดด อาการอักเสบของผิวหนัง ยาสมุนไพรที่แนะนำ ได้แก่ ยาโลชั่น / คาลาไมน์พญายอ ในกรณีที่เกิดอาการแพ้แดด ผิวไหม้ สมุนไพรที่ช่วยแก้อาการดังกล่าว คือ ว่านหางจระเข้ เนื่องจากมีสารให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง โดยนำว่านหางจระเข้มาปอกเอาเปลือกสีเขียวออกแล้วล้างยางให้สะอาด แล้วนำเอาวุ้นข้างในมาฝานบางๆ แล้วทาหรือแปะผิวหนัง เช้า – เย็น แตงกวา สรรพคุณ ช่วยให้ผิวหนังชุ่มชื้น นำมาฝานบางๆ แล้วทา หรือแปะทิ้งเอาไว้ ช่วยให้ผิวพรรณดีขึ้น และบัวบก ให้นำผงใบบัวบกละลายน้ำ พอกทาบริเวณที่ผิวหนังอักเสบจากแสงแดด หรืออากาศที่ร้อน หรือใช้ใบบัวบกสดตำแล้วคั้นเอาน้ำมาทาผิวหนังที่อักเสบ ช่วยให้หายเร็วขึ้น 

สำหรับอาหารช่วงฤดูร้อน ควรจะรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ แต่จะเน้นพืชผักและผลไม้ที่มีฤทธิ์เย็นเป็นหลัก เมนูอาหารคลายร้อนที่แนะนำ ได้แก่ 

  • แกงจืดมะระยัดไส้ โดยมะระ มีสรรพคุณเป็นยาดับร้อน ถอนพิษไข้ แก้กระหาย บรรเทาอาการร้อนใน แก้อักเสบ เจ็บคอ 
  • แกงเลียงกุ้ง (ลดความเผ็ด) อาหารพื้นบ้านที่ประกอบด้วยผักต่าง ๆ เช่น ใบตำลึง ใบแมงลัก บวบ น้ำเต้า เห็ดฟาง กระชาย ผักเหล่านี้เป็นผักที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย แกงเลียงกุ้งร้อน ๆ สามารถขับเหงื่อช่วยให้ร่างกายเบาสบาย  
  • ส่วนอาหารประเภทแกงจืดที่เหมาะจะรับประทานในช่วงหน้าร้อนนี้ อาจเป็นแกงจืดฟักเขียว แกงจืดตำลึง แกงขี้เหล็ก 

ส่วนเครื่องดื่มที่แนะนำ ได้แก่

  • น้ำตรีผลา ประกอบด้วยผลไม้ 3 ชนิด ได้แก่ มะขามป้อม ลูกสมอพิเภก  ลูกสมอไทย เป็นยาปรับธาตุในหน้าร้อน ช่วยรักษาความสมดุลธาตุทั้ง 4 ของร่างกาย สามารถรับประทานได้ในทุกวัยและใช้ได้กับทุกธาตุ 
  • น้ำย่านาง ใบย่านางมีฤทธิ์เย็น ปรับสมดุล ลดความร้อนในร่างกาย 
  • น้ำบัวบก แก้ร้อนใน กระหายน้ำ ลดอาการปวดศีรษะข้างเดียว บำรุงสมอง บำรุงหัวใจ 
  • น้ำกระเจี๊ยบ ช่วยรักษาอาการร้อนในภายในช่องปาก ลดความดันโลหิต 
  • น้ำใบเตย ช่วยบำรุงหัวใจ ช่วยลดอาการกระหายน้ำ ทำให้ชุ่มชื่น

 


แหล่งที่มา : สำนักนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 88/20 หมู่4 ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000

เบอร์ติดต่อ : 0 2590 1000

 

ข้อมูลเพิ่มเติม 


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,283,232