การเปลี่ยนผ่านของฤดูกาล จากฤดูฝนเป็นฤดูหนาว แม้สภาพอากาศช่วงฤดูหนาวของไทยจะมีแค่ช่วงเวลาสั้น ๆ แต่การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ อาจทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน และเกิดการเจ็บป่วยได้
ดังนั้นตามศาสตร์แผนไทย ฤดูหนาวมีธาตุน้ำ เป็นเหตุให้เจ็บป่วยได้ เนื่องจาก เป็นช่วงที่ร่างกายมีไอความร้อนค้างอยู่ จากช่วงฤดูฝน ดังนั้นเมื่ออากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ปรับตัวไม่ทัน จนเกิดภาวะธาตุไฟพิการ และเจ็บป่วยได้ง่าย ในคนที่มีภูมิต้านทานดีก็จะไม่มีอาการใด ๆ แต่ในคนที่ภูมิต้านทานต่ำ ถือเป็นจุดอ่อน ทำทำให้เจ็บป่วยได้ง่ายมาก อากาศที่เย็นลงทำให้เสมหะกำเริบ เกิดอาการภูมิแพ้ มีอาการคัดจมูก จาม น้ำมูกไหล ไอ ครั่นเนื้อครั่นตัว มีไข้ต่ำ ๆ
ตามทฤษฎีการแพทย์แผนไทย แบ่งกลุ่มโรคอาการเจ็บป่วยในช่วงฤดูหนาว ด้วยสาเหตุหลัก 3 กลุ่มอาการ คือ
1. โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ ไข้หวัด น้ำมูกไหล ไอจาม หรือ อาการภูมิแพ้อากาศ ซึ่งเกิดจากธาตุน้ำ (เสมหะ) แปรปรวน แพทย์แผนไทยจะเริ่มโดยการใช้อาหารในการปรับสมดุลของร่างกาย โดยใช้รสอาหาร เปรี้ยว ขม เบื่อ เอียน ดังคำโบราณว่า ปลายฝนต้นหนาว ให้กินแกงส้มดอกแค เพื่อปรับสมดุลธาตุในช่วงเปลี่ยนฤดูกาล เนื่องจากแกงส้ม เครื่องแกง จะมีรสเผ็ดร้อน บำรุงและแก้เกี่ยวกับธาตุลม (ฤดูฝน) การปรุงรสโดยใส่มะขามเปียกให้มีรสเปรี้ยวจะช่วยขับเสมหะ บำรุงและแก้เกี่ยวกับธาตุน้ำ (ฤดูหนาว) รวมทั้งการใส่ดอกแค โดยดอกแคไม่ต้องเอาก้านเกสรออก รสขมจะช่วยแก้ไข้หัวลมได้ การกินแกงส้มดอกแคจะช่วยปรับสมดุลธาตุในร่างกายไม่ให้ธาตุลมลดลงอย่างเฉียบพลัน และยังมีเมนูอื่น ๆ เช่น ต้มส้มปลาทู น้ำพริกมะขาม พืชผัก
โดยสมุนไพรที่ควรรับประทานในช่วงฤดูนี้ ได้แก่ สมุนไพรรสเปรี้ยวซึ่งช่วยขับเสมหะ บรรเทาอาการไอ เช่น มะขามป้อม ชะมวง มะนาว ตะลิงปลิง รสขม แก้ไข้ เจริญอาหาร นอนหลับสบาย เช่น ดอกแค ขี้เหล็ก สะเดา
ส่วนยาสมุนไพรที่ควรมีไว้ติดตู้ยาได้แก่ ยาฟ้าทะลายโจร สรรพคุณ รักษาอาการเป็นไข้ ไอ เจ็บคอ ยาแก้ไอมะขามป้อม ยาอมมะแว้ง สรรพคุณ บรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ แต่หากมีอาการภูมิแพ้อากาศ คัดจมูก น้ำมูกไหล สามารถใช้ ยาปราบชมพูทวีป ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน โดยยาดังกล่าวสามารถสั่งจ่ายโดยแพทย์แผนไทย/แพทย์แผนไทยประยุกต์ ในคลินิกการแพทย์แผนไทยโรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ
2. อาการท้องอืดท้องเฟ้อ จากการแปรปรวนของธาตุน้ำส่งผลต่อธาตุไฟในร่างกายเสียสมดุลไปด้วย จะทำให้เลือดลมไหลเวียนไม่สะดวก แนะนำให้รับประทานสมุนไพรรสเผ็ดร้อน บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม ช่วยให้เลือดลมไหลเวียนได้สะดวก และยังเพิ่มความอบอุ่นของร่างกาย ได้แก่ พริกไทย ขิง ข่า กะเพรา ตะไคร้ กระเทียม เมนูอาหารที่แนะนำเช่น แกงป่าไก่บ้าน ต้มยำปลา
3. อาการผิวหนังแห้ง คัน ในช่วงฤดูหนาวประชาชนส่วนใหญ่จะมีผิวแห้งกร้าน เนื่องจากผิวขาดน้ำ สมุนไพรที่ทางศาสตร์การแพทย์แผนไทยแนะนำ ได้แก่ ว่านหางจระเข้ แตงกวา มะเขือเทศ น้ำมันมะพร้าว สรรพคุณ ช่วยบำรุงผิวพรรณชุ่มชื้นอ่อนนุ่ม มีน้ำมีนวล เป็นต้น
โดยในช่วงที่อากาศเย็นลงในฤดูหนาวนี้ เรายังสามารถดูแลสุขภาพของตนเองให้แข็งแรงปราศจากโรคได้โดยรักษาความอบอุ่นของร่างกายด้วยการสวมเสื้อหนา ๆ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ วันละ 6 – 8 ชั่วโมง