มหาวิทยาลัยมหิดลประสบความสำเร็จในการวิจัยนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ยาที่ใช้รักษามะเร็งด้วยเซลล์และยีน (CAR – T cell) โดยทีมแพทย์ และนักวิจัยได้เริ่มวิจัยตั้งแต่ปี 2557 จนสำเร็จ และสามารถนำไปใช้จริงในผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด บี เซลล์ ที่ดื้อต่อการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดหลายขนานและยามุ่งเป้าหลายชนิด ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่จำนวน 10 ราย ตลอดจนบางรายหลังปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดแล้วด้วย โดยทั้ง 10 รายหลังได้รับ CAR - T cell ตอบสนองจนโรคสงบทุกราย (100%)
งานวิจัยนี้นับเป็นรายแรกของประเทศไทยที่ได้ทำการทดลองทางคลินิก (Clinical Trial) เพื่อขึ้นทะเบียนยาในเชิงพาณิชย์ และเป็นบันไดขั้นแรกของความสำเร็จในการสนับสนุนทุนวิจัยด้านการแพทย์ เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยทั้งชาวไทย และต่างประเทศเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพได้มากขึ้น ซึ่งเป็นผลงานของนักวิจัยไทย 100% ได้รับการจดสิทธิบัตรครอบคลุมทั้งใน และต่างประเทศ เนื่องจากโครงสร้างโมเลกุลแตกต่างชัดเจน โดยที่คุณสมบัติทำลายเซลล์มะเร็งยังได้ผลดีทั้งในหลอดทดลอง และสัตว์ทดลอง นอกจากนี้ยังสามารถเตรียมการผลิตโดยใช้เม็ดเลือดขาวของคนอื่นที่ไม่ใช่ของตนเอง ทำให้มีโอกาสได้มากขึ้น
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรเดช หงส์อิง ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เริ่มทำการวิจัยตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2557 จนสำเร็จ และสามารถนำไปใช้จริงในผู้ป่วยทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ จำนวน 10 ราย โดย CAR - T cell ที่ผลิตนี้นอกจากใช้ในผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว ชนิด บีเซลล์แล้ว ยังสามารถนำมาใช้ในผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ชนิด บี เซลล์ได้ด้วย ในอนาคตทางมหาวิทยาลัยมหิดลเองกำลังวิจัยผลิตภัณฑ์ยา CAR T-cell สำหรับมะเร็งมัยอิโลมา มะเร็งกระดูก มะเร็งสมอง มะเร็งต่อมหมวกไต และอื่น ๆ อีกตามมา กล่าวได้ว่ามหาวิทยาลัยมหิดล ได้วิจัยผลิตภัณฑ์ยา CAR – T cell ที่เคยมีราคาสูง ให้สามารถเข้าสู่ขั้นตอนการพัฒนา และผลิตได้เองในประเทศด้วยต้นทุนที่ต่ำลงในห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานสากลเป็นแห่งแรกในอาเซียน มีผลการรักษาในผู้ป่วยเบื้องต้นเป็นที่น่าพอใจ และคาดว่าจะนำไปใช้ในผู้ป่วยวงกว้างได้ในเร็ววันนี้ ปัจจุบันได้รับการติดต่อจากประเทศเพื่อนบ้านในการถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวอีกด้วย
ข้อมูล ณ วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2566
แหล่งที่มา : มหาวิทยาลัยมหิดล
เบอร์ติดต่อ : 0 2201 1000 หรือ 0 2200 3000