รู้จัก ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายใหม่ 3 เส้นทาง

     ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับระบบคมนาคมขนส่งของประเทศ เนื่องจากเป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานหลักที่ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาประเทศ ช่วยส่งเสริมการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคอย่างทั่วถึง ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาเมืองในภูมิภาค เสริมสร้างสมรรถนะทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตให้ยั่งยืน  

     กรมทางหลวง จึงได้มีนโยบายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เพื่อเป็นการยกระดับการเดินทางระหว่างภูมิภาคให้มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย  สามารถเชื่อมโยงโครงข่ายการเดินทางระหว่างภูมิภาคได้อย่างไร้รอยต่อ  โดยในระยะเร่งด่วน กรมทางหลวง ได้เร่งผลักดันทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายใหม่อีก 3 เส้นทาง ได้แก่

     1. ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 (M9) สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน- บางบัวทอง- บางปะอิน ระยะทางประมาณ 70 กิโลเมตร โดยแบ่งการพัฒนาเป็น 2 ช่วง

    • ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน - บางบัวทอง เป็นการก่อสร้างทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ตามแนวถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก หรือถนนกาญจนาภิเษก  โดยเป็นการดำเนินโครงการในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน  คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงการในปี 2568 - 2570 และเปิดบริการในปี 2571
    • ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก ช่วงบางบัวทอง – บางปะอิน เป็นการดำเนินการปรับปรุงถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตกเดิม  ให้เป็นทางหลวงพิเศษระดับพื้นดิน ขนาด 6 ช่องจราจร ปัจจุบันกรมทางหลวง อยู่ระหว่างเสนอแผนความต้องการเงินกู้ระยะปานกลาง 5 ปี (พ.ศ. 2567 - 2571)  วางเป้าหมายเริ่มการก่อสร้างได้ในปี 2568

     โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก จะเป็นโครงข่ายสำคัญที่จะช่วยเชื่อมโยงการเดินทางและการขนส่ง ระหว่างพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑลโดยสมบูรณ์ รวมถึงเชื่อมต่อกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 (M81) สายบางใหญ่ - กาญจนบุรี และทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 (M6) สายบางปะอิน - นครราชสีมา อย่างไร้รอยต่อ

     2. โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 5 สายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต - บางปะอิน (M5) เป็นการก่อสร้างทางยกระดับช่วงรังสิต - บางปะอิน บนเกาะกลางถนนพหลโยธิน ขนาด 6 ช่องจราจร  ซึ่งดำเนินการในรูปแบบ PPP Gross Cost คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2568 - 2570 และเปิดบริการในปี 2571 

     โครงการนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจร บนถนนพหลโยธินและถนนวิภาวดีรังสิต และสามารถเชื่อมโยงกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรองรับและเชื่อมต่อการเดินทาง จากใจกลางกรุงเทพฯสู่ภาคกลางตอนบน ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างสมบูรณ์

     3. โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 8 (M8) สายนครปฐม - ชะอำ ช่วงนครปฐม - ปากท่อ ลักษณะโครงการ เป็นการก่อสร้างทางหลวงพิเศษขนาด 4 ช่องจราจร ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเสนอแผนความต้องการเงินกู้ระยะปานกลาง 5 ปี (พ.ศ. 2567 - 2571) เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะสามารถรองรับการเดินทางและขนส่งสินค้าระหว่างกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคตะวันตกและภาคใต้ของประเทศ สามารถแบ่งเบาการจราจร จากทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) และทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม2) เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเดินทางสู่ภาคใต้ 

แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการ กรมทางหลวง
เลขที่ 2/486   ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 
เบอร์ติดต่อ : 0 235 6668
ข้อมูลเพิ่มเติม


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,282,505