ข้อควรรู้ สำหรับสิ่งของติดตัวผู้เดินทางเข้าไทยผ่านท่าอากาศยาน

ข้อควรรู้สำหรับสิ่งของติดตัวผู้เดินทางเข้าไทยผ่านท่าอากาศยาน

     ผู้โดยสารทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่ประสงค์จะเดินทางเข้ามายังประเทศไทยผ่านทางท่าอากาศยาน จะต้องมีข้อควรรู้เกี่ยวกับการนำของติดตัวมาด้วย ซึ่งการผ่านเข้ามาแต่ละครั้งจะต้องมีการสำแดงสิ่งของที่นำติดตัวมาให้เจ้าหน้าที่ตรวจ หากไม่มีสิ่งของที่ต้องชำระภาษีอากร ก็จะสามารถผ่านการตรวจสัมภาระในช่องเขียว (Nothing to declare) หรือช่องไม่มีสิ่งของต้องสำแดง แต่หากมีสิ่งของที่ต้องชำระค่าภาษีอากร ก็จะต้องผ่านช่องตรวจสัมภาระในช่องแดง (Goods to declare) หรือช่องมีสิ่งของต้องสำแดง ซึ่งข้อควรรู้ มีดังนี้

     การตรวจสัมภาระผู้โดยสารขาเข้า ณ ช่องไม่มีสิ่งของต้องสำแดง หรือช่องเขียว (Nothing to declare) หมายถึง ผู้โดยสารที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งไม่มีของต้องชำระภาษีอากร ไม่มีของต้องห้าม หรือของต้องกำกัดเข้ามาพร้อมกับตน ให้เดินผ่านช่องตรวจเขียว หรือช่องไม่มีของต้องสำแดง โดยของที่ได้รับยกเว้นอากรมี ดังนี้

  1. ของใช้ส่วนตัวที่มีปริมาณพอสมควรสำหรับใช้ส่วนตัวและมีมูลค่ารวมทั้งหมดไม่เกิน 20,000 บาท ซึ่งมิใช่ของต้องห้ามต้องกำกัด หรือเสบียงอาหาร
  2. บุหรี่ไม่เกิน 200 มวน หรือยาสูบไม่เกิน 250 กรัม หรือน้ำหนักรวมทั้งหมดทุกประเภทไม่เกิน 250 กรัม        
  3. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปริมาตรไม่เกิน 1 ลิตร (หากนำบุหรี่ ยาสูบ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาเกินกว่าปริมาณที่กำหนด โปรดหย่อนใส่กล่องที่กรมศุลกากรจัดไว้เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกดำเนินคดี)

     การตรวจสัมภาระผู้โดยสารขาเข้า ณ ช่องมีสิ่งของต้องสำแดง หรือช่องแดง (Goods to declare) โดยผู้โดยสารที่มีสิ่งของต้องสำแดง จะต้องยื่นหนังสือเดินทางพร้อมบัญชีรายการสินค้า หรือใบเสร็จรับเงิน (ถ้ามี) ต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรประจำช่องแดง ตรวจสอบหนังสือเดินทาง และเปิดตรวจกระเป๋าสัมภาระของผู้โดยสาร เพื่อพิจารณารายการสิ่งของ โดยจำแนกการปฏิบัติพิธีการศุลกากร ดังนี้

     กรณีที่ 1 เป็นของติดตัวผู้โดยสาร ซึ่งไม่มีลักษณะเป็นเชิงการค้าและมีมูลค่าไม่เกิน 200,000 บาท เจ้าหน้าที่ศุลกากรประจำช่องแดง จะคำนวณค่าภาษีอากรปากระวาง ซึ่งผู้โดยสารสามารถชำระค่าภาษีอากรด้วยเงินสด หรือบัตรอิเล็กทรอนิกส์ (บัตรเดบิต/บัตรเครดิต) ในกรณีที่ด่านศุลกากรมีระบบรับชำระด้วยบัตรอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับค่าธรรมเนียมการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์เป็นไปตามอัตราที่ธนาคารกำหนด เมื่อชำระเสร็จสิ้นแล้ว ให้รับใบเสร็จรับเงินและรับสิ่งของ                         

     กรณีที่ 2 เป็นของต้องห้าม/ต้องกำกัด ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากเป็นกรณีดังกล่าวผู้โดยสารจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

     กรณีที่ 3 เป็นของที่ไม่เข้าลักษณะในกรณีที่ 1 และ 2 ผู้โดยสารจะต้องจัดทำใบขนสินค้าขาเข้ายื่น ณ ฝ่ายพิธีการกลาง ส่วนบริการภาษีอากร ชำระค่าภาษีอากรด้วยเงินสด หรือบัตรอิเล็กทรอนิกส์ (บัตรเดบิต/บัตรเครดิต) ในกรณีที่ด่านศุลกากรมีระบบรับชำระด้วยบัตรอิเล็กทรอนิกส์ โดยผู้โดยสารชำระค่าธรรมเนียมการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ตามอัตราที่ธนาคารกำหนด รับใบเสร็จรับเงินและรับสิ่งของ


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,288,301