ไฮสปีดเทรนในไทย คืบหน้าแค่ไหน?

         โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด เทรน) เป็นโครงการเมกะโปรเจกต์ด้านคมนาคม เพื่อพัฒนาระบบรางของไทย โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจ และเชื่อมโยงตลาดการค้า การขนส่ง อีกทั้งยังก่อให้เกิดผลประโยชน์ด้านอื่น ๆ อาทิ ท่องเที่ยว 

          โครงการรถไฟความเร็วสูงในประเทศไทย ได้มีเริ่มดำเนินการไปแล้ว 2 โครงการ

          1. โครงสร้างรถไฟความเร็วสูงภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย-จีน เป็นเส้นทางเชื่อมต่อการขนส่งในภูมิภาค โดยมีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูง จีน-ลาว ณ สถานีท่านาแล้ง สปป.ลาว รวมระยะทางรวมทั้งหมด 608 กิโลเมตร   

          ระยะที่ 1 กรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา ระยะทาง 250.77 กม. ตลอดเส้นทางมีทั้งหมด 6 สถานี ได้แก่ สถานีกลางบางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา สระบุรี ปากช่อง และเป็นทางยกระดับ 188.68 กม. คันทางระดับดิน 54.99 กม. และอุโมงค์ บริเวณมวกเหล็กและลำตะคอง 8 กม. ปัจจุบันงานโยธามีความคืบหน้าด้านการก่อสร้าง 15% ตามแผนมีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จ ปี 2569    

          ระยะที่ 2 นครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 357 กม. ตลอดเส้นทางมี 5 สถานี บัวใหญ่ บ้านไผ่ ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย ขณะนี้ได้ออกแบบงานโยธาเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณารายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าช่วงมกราคม-กรกฎาคม 2566 จะเริ่มการประกวดราคา และเริ่มก่อสร้างสิงหาคม-กันยายน 2566 แล้วเสร็จและเปิดให้บริการ ปี 2571

          ส่วนการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย-สปป.ลาว-จีน ด้วยสะพานข้ามแม่น้ำโขงที่จังหวัดหนองคาย กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ได้มีการประสานความร่วมมือกับทาง สปป.ลาวอย่างต่อเนื่อง

          2. โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อสามสนามบิน ได้แก่ สนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินอู่ตะเภา ผ่านเส้นทางพื้นที่ 5 จังหวัด โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยตัวของโครงการจะใช้โครงสร้างและแนวเส้นทางการเดินรถต่อจากระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแอร์พอร์ตลิงก์ โดยจะก่อสร้างทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร (Standard Gauge) ส่วนต่อขยาย 2 ช่วงจากสถานีพญาไท ไปยังสนามบินดอนเมือง และจากสถานีลาดกระบังไปยังสนามบินอู่ตะเภา รวมระยะทาง 220 กม. ประกอบได้ด้วย 9 สถานี ได้แก่ สถานีดอนเมือง สถานีบางซื่อ สถานีมักกะสัน สถานีสุวรรณภูมิ สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา และสถานีอู่ตะเภา  

        โดยข้อมูล ณ เดือน ตุลาคม 2565  การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ส่งมอบพื้นที่ช่วงนอกเมือง (สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ให้ผู้ดำเนินโครงการแล้วเสร็จ 100% คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ก่อน ส่วนช่วงดอนเมือง-พญาไท มีความก้าวหน้า 73.74% โดยช่วงพญาไท-บางซื่อ คาดจะส่งมอบได้ในเดือนมิถุนายน 2566 เนื่องจากต้องมีการรื้อย้ายท่อน้ำมัน ซึ่งผ่านการรับรองด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว

ที่มา: กระทรวงคมนาคม

เบอร์โทรศัพท์: (+66) 0 2283 3000


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,288,599