กระบวนพยุหยาตราเป็นวัฒนธรรมไทยที่สะท้อนผ่านริ้วขบวนเรือพระราชพิธี ที่จัดขึ้นสำหรับพระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินไปในการพิธีต่าง ๆ ทั้งเป็นการส่วนพระองค์และที่เป็นพระราชพิธี สืบทอดตั้งแต่สมัยสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงรัตนโกสินทร์ จวบจนปัจจุบัน
การฟื้นฟูและการสร้างเรือพระราชพิธี
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ กองทัพเรือและกรมศิลปากรได้ร่วมกันซ่อมแซมและต่อเรือพระราชพิธีให้ครบถ้วนตามโบราณราชประเพณี เพื่อใช้ในพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2525 โดยในแต่ละรัชกาลก็มีการสร้างเรือใหม่ขึ้น
รัชกาลที่ 1 ทรงสร้างเรือขึ้นมาใหม่ จำนวน 67 ลำ
รัชกาลที่ 2 ทรงสร้างเรือขึ้นมาใหม่ จำนวน 2 ลำ
รัชกาลที่ 3 ทรงสร้างเรือขึ้นมาใหม่ จำนวน 24 ลำ
รัชกาลที่ 4 ทรงสร้างเรือขึ้นมาใหม่ จำนวน 7 ลำ
รัชกาลที่ 5 ทรงสร้างเรือขึ้นมาใหม่ จำนวน 1 ลำ
รัชกาลที่ 6 ทรงสร้างเรือขึ้นมาใหม่ จำนวน 2 ลำ
จนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีการ สร้างเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษก ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ตามคติสากล เมื่อปี พ.ศ. 2539 และได้มีการเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในรัชสมัยของพระองค์ทั้งสิ้น 17 ครั้ง
ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในปัจจุบัน
ในรัชสมัยปัจจุบัน ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคยังคงมีความสำคัญ โดยจัดเป็นพระราชพิธีในโอกาสสำคัญ เช่น การเฉลิมพระชนมพรรษาและการถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ในวันที่ 27 ตุลาคม 2567 โดยประชาชนสามารถเข้าร่วมเฉลิมฉลองในพระราชกรณียกิจอันยิ่งใหญ่นี้
การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในปีนี้ยังเป็นการสืบสานและอนุรักษ์ประเพณีอันงดงามของชาติไทยให้คงอยู่ต่อไปในอนาคต และเปิดโอกาสให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้และภาคภูมิใจในวัฒนธรรมไทย
ข้อมูลเพิ่มเติม : กองทัพเรือ
Link : https://www.navy.mi.th/