กระทรวงสาธารณสุขได้ออกมาตรการป้องกันฝุ่น PM10 ที่อาจเกิดจากดินโคลนแห้งที่เริ่มฟุ้งกระจายภายหลังน้ำท่วมลดลงในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงรายที่พบแนวโน้มฝุ่นเพิ่มขึ้น จึงได้กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันและเฝ้าระวังฝุ่น PM10 ดังนี้
- เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองในพื้นที่
เจ้าหน้าที่จะคอยติดตามปริมาณฝุ่นละออง PM10 อย่างต่อเนื่อง และรายงานให้ประชาชนทราบเพื่อเตรียมตัวรับมือได้ทันท่วงที
- สื่อสารข้อมูลสถานการณ์และวิธีป้องกันตัวเอง
ประชาชนจะได้รับข้อมูลผ่านสื่อต่าง ๆ เพื่อให้ทราบถึงวิธีป้องกันฝุ่น เช่น การสวมหน้ากากอนามัย และลดกิจกรรมกลางแจ้งเมื่อฝุ่นละอองมีปริมาณสูง
- เฝ้าระวังผลกระทบด้านสุขภาพ
มุ่งเน้นการเฝ้าระวังใน 4 กลุ่มโรคหลัก ได้แก่ โรคตา โรคผิวหนัง โรคระบบทางเดินหายใจ และโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งอาจมีอาการแย่ลงเมื่อเจอฝุ่นละออง
- สนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล
โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคประจำตัว จะได้รับการสนับสนุนหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการสัมผัสฝุ่นโดยตรง
- ปรับระบบนัดโดยบริการการแพทย์ทางไกล (Telemedicine)
ผู้ป่วยสามารถนัดหมายแพทย์ผ่านระบบ Telemedicine ซึ่งจะช่วยลดการสัมผัสกับฝุ่น PM10
- จัดห้องปลอดฝุ่นในสถานพยาบาล
สถานพยาบาลจะมีการจัดห้องปลอดฝุ่น เพื่อลดปริมาณฝุ่นที่เข้าสู่อาคาร และรักษาความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากร
- ให้คำแนะนำประชาชนในการจัดบ้านให้ปลอดภัย
สธ.แนะนำวิธีจัดบ้านให้ปลอดฝุ่น โดยการทำความสะอาดพื้นผิวต่าง ๆ และดูแลสุขอนามัยของที่พักอาศัยเพื่อลดการฟุ้งกระจายของฝุ่น PM10
การเฝ้าระวังฝุ่นละอองเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการฟื้นฟูพื้นที่หลังน้ำลด โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง การปฏิบัติตามมาตรการเหล่านี้จะช่วยให้ทุกคนปลอดภัยจากผลกระทบของฝุ่น PM10
ข้อมูลเพิ่มเติม : กระทรวงสาธารณสุข