เปิดกิจการในไทยส่งสินค้าไปจำหน่ายต่างประเทศต้องทำอย่างไร

เปิดกิจการในไทยส่งสินค้าไปจำหน่ายต่างประเทศต้องทำอย่างไร

      การลงทุนของบริษัทข้ามชาติในประเทศไทย ที่ถือเป็นอีกฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ จากการสร้างรายได้และการจ้างงาน และยังก่อให้เกิดผลดีทางอ้อมผ่านการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีการผลิต โดยเมื่อตรวจสอบเฉพาะการเข้ามาลงทุนผ่านการส่งเสริมของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) พบว่ามีนักลงทุนต่างชาติทำธุรกิจโดยถือหุ้นร่วมกับคนไทย และคนต่างชาติถือหุ้นทั้งหมดในรอบ 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ของปีที่ผ่านมา (2565) สูงถึง 701 โครงการ จากปริมาณคำขอรับการส่งเสริมรวม 1,247 โครงการ คิดเป็นเม็ดเงินลงทุน 311,610 ล้านบาท จากยอดรวมทั้งสิ้น 439,080 ล้านบาท 

      สะท้อนภาคการผลิตสินค้า ซึ่งพบว่าอยู่ในกลุ่มการเกษตรและแปรรูปอาหารมากที่สุด รองมา คือ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ และการท่องเที่ยว ซึ่งสินค้าทั้งหมดเหล่านี้ไม่ได้จำหน่ายอยู่เพียงในประเทศไทย 

container-ship-loading-unloading-deep-sea-port-sunset-aerial-view-business-logistic-import-export.jpg
      ดังนั้น กระบวนการส่งออกสินค้าที่นักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะทั้งที่กำลังจะมาลงทุนในไทย และต้องการขยายธุรกิจส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ จึงควรศึกษาขั้นตอนพิธีการศุลกากรส่งของออก โดยมีขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้

    • ยื่นใบขนสินค้าขาออก จัดทำข้อมูล "ใบขนสินค้าขาออก (กศก.101/1)" ตามรูปแบบ และมาตรฐานที่กรมศุลกากรกำหนด สามารถยื่นได้ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ หากไม่มีข้อผิดพลาดระบบจะแจ้งเลขที่ใบขนสินค้าขาออก เพื่อให้ไปชำระค่าภาษีอากร (ถ้ามี) และทำการขนย้ายของไปยังด่านศุลกากรเพื่อรับการตรวจปล่อย
    • การชำระค่าภาษีอากร ผู้ส่งออกต้องดำเนินการชำระค่าภาษีอากร (ถ้ามี) และค่าธรรมเนียมให้แล้วเสร็จก่อนไปดำเนินการรับการตรวจปล่อย สามารถชำระได้ 3 ช่องทาง คือ ชำระด้วยตนเองที่หน่วยชำระเงินของกรมศุลกากร ชำระในระบบ e-Payment ชำระในระบบ e-Bill Payment
    • การส่งข้อมูลใบกำกับการขนย้ายสินค้าขาออก เมื่อบรรจุสินค้าลงยานพาหนะแล้วเสร็จ จะต้องทำข้อมูลใบกำกับการขนย้ายสินค้าตามรูปแบบของกรมศุลกากร ส่งข้อมูลในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ หากไม่มีข้อผิดพลาดระบบจะกำหนดเลขที่ใบกำกับการขนย้ายสินค้าเพื่อนำมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ที่ด่านขาออก
    • การตรวจสอบและตัดบัญชีใบกำกับการขนย้ายสินค้า เจ้าหน้าที่ที่ด่านขาออกทำการตรวจสอบความถูกต้องและทำการตัดบัญชีใบกำกับการเคลื่อนย้าย  กรณีมีคำสั่ง “ให้เปิดตรวจ (Red Line)” จะมีการตรวจสอบสินค้าก่อนการขนย้าย ถ้ามีคำสั่ง “ยกเว้นการตรวจ (Green Line)” สินค้าจะสามารถออกนอกประเทศได้ทันที
    • พิธีการศุลกากรขาเข้า (ปลายทาง) เจ้าหน้าที่จะตรวจสินค้าตามที่แจ้งไว้ หากไม่พบปัญหาใดก็สามารถขนของออกได้ทันที

สำหรับเอกสารที่ใช้ในการส่งออก ประกอบด้วย

1. ใบขนสินค้าขาออก

2. บัญชีราคาสินค้า (Invoice)

3. ใบอนุญาต หรือหนังสือรับรอง

4. คำร้องต่าง ๆ (ถ้ามี)

5. ใบแนบใบขนสินค้าขาออก (กรณีเป็นสินค้าที่จะขอคืนอากรตามมาตรา 19 ทวิ)

6. ใบขนสินค้ามุมน้ำเงิน (กรณีเป็นสินค้าที่ขอชดเชยอากรสินค้าส่งออก)

ที่มา : การยางแห่งประเทศไทย
เบอร์โทรศัพท์ : 0-2433-2222


ความคิดเห็น


ประเด็นที่เกี่ยวข้อง

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,288,244