เปิดขั้นตอนขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวมาตรา 17

เปิดขั้นตอนขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวมาตรา 17

        จากสถิติการอนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจ ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 พบว่าในรอบกว่า 22 ปี (3 มีนาคม 2543-31 ตุลาคม 2565) มีนักธุรกิจต่างชาติได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการรวมทั้งสิ้น 6,242 ราย โดยอยู่ในภาคบริการมากที่สุดถึง 3,128 ราย รองมาอยู่ในกิจการประเภทสำนักงานผู้แทนและภูมิภาค จำนวน 1,481 ราย ที่เหลือกระจายอยู่ในกิจการประเภทก่อสร้าง การบริการด้านวิศวกรรม การให้คำปรึกษา นายหน้าค้าส่งและค้าปลีก รวมถึงงานด้านบัญชีและกฎหมาย ที่นักธุรกิจต่างชาติเข้ามาดำเนินการสะท้อนได้ถึงกระแสความนิยมของนักธุรกิจที่เข้าร่วมสร้างงานในไทย 

        แม้กฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จะกำหนดกิจการประเภทกิจการที่นักลงทุนต่างชาติ ห้ามดำเนินการในบัญชี 1 และกิจการที่อนุญาตแต่มีเงื่อนไขในบัญชี 2 และ 3 นั้น แต่เมื่อพิจารณาหลักเกณฑ์และวิธีการในการขออนุญาตประกอบกิจการตามมาตรา 17 จะพบว่ามีการกำหนดให้คนต่างด้าวที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจไว้ครอบคลุมทั้งในส่วนของการดำเนินการในนามบุคคลธรรมดา, นิติบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย และนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย 

director-restaurant-is-giving-work-instructions-waitresses.jpg

        โดยสามารถยื่นคำขอประกอบธุรกิจตามบัญชี 2 และ 3 ได้ ต่อเจ้าหน้าที่ สํานักบริหารการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ส่วนในจังหวัดอื่นยื่นเรื่องได้ที่สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัด พร้อมค่าธรรมเนียมการขอจำนวน 2,000 บาท ซึ่งจะใช้เวลาดำเนินการพิจารณา 60 วัน นับตั้งแต่วันยื่นเอกสาร หากไม่ได้รับการอนุญาตจะแจ้งผลให้ทราบภายใน 15 วัน และมีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 15 วัน จากนั้นอีก 30 วัน จะทราบผลการอุทธรณ์ โดยเมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงประกอบธุรกิจได้ต่อไป


ทั้งนี้ อัตราค่าธรรมเนียมการขอใบอนุญาตมีดังนี้ 

1.บัญชี 2 :  พันละสิบบาทของเงินทุนจดทะเบียน ทั้งนี้ไม่ตํ่ากว่า 40,000 และไม่เกิน 500,000 บาท

2.บัญชี 3 : พันละห้าบาทของเงินทุนจดทะเบียน ทั้งนี้ไม่ตํ่ากว่า 20,000 และไม่เกิน 250,000 บาท

        สำหรับเอกสารประกอบการยื่นขออนุญาตประกอบการกิจการจะขึ้นอยู่กับว่า ผู้ยื่นเรื่องจะยื่นคำขอในฐานะบุคคลธรรมดา, นิติบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย และ นิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย โดยเอกสารประกอบหลัก ๆ ที่เหมือนกัน คือ แบบฟอร์ม ต.2, เอกสารประจำตัวคนต่างด้าว, คำรับรองของผู้ขอรับใบอนุญาตแสดงว่าตนมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายกำหนด, หนังสือแจ้งรายละเอียดของประเภทธุรกิจ ที่มีรายละเอียดสำคัญๆ อาทิ ขนาดและระยะเวลาประกอบธุรกิจ, จำนวนแรงงานในไทยที่จะว่าจ้าง, ผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมที่คาดว่าประเทศไทยจะได้รับจากการประกอบธุรกิจ และแผนที่แสดงที่ตั้งโดยสังเขปของสถานที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา 1 
เบอร์โทรศัพท์ : 0-2221-5306


ความคิดเห็น


ประเด็นที่เกี่ยวข้อง

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,284,374