จากที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยข้อมูลธุรกิจในพื้นที่การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor : EEC ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา, ชลบุรี และระยอง ในรอบปีที่แล้ว (ม.ค.-ก.ย.2565) เปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 (ม.ค.-ก.ย. 2564)
พบว่า มีนักธุรกิจ (นิติบุคคลจัดตั้งใหม่) เข้ามาเปิดกิจการใหม่ในพื้นที่นี้รวมจำนวน 6,294 ราย จากเดิมอยู่ที่ 5,081 ราย หรือ เพิ่มขึ้นจำนวน 1,213 ราย คิดเป็นมูลค่าของทุนจดทะเบียนรวม 27,219.99 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิมซึ่งมีมูลค่า 14,837.44 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจำนวน 12,382.55 ล้านบาท
โดยมาจากการลงทุนธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรกคือ 1.อสังหาริมทรัพย์ 2.การก่อสร้างอาคารทั่วไป และ 3.กิจกรรมของตัวแทนและนายหน้าอสังหาริมทรัพย์โดยได้รับค่าตอบแทน ซึ่งทั้งหมดนี้สะท้อนว่าการมองหาพื้นที่เปิดกิจการใหม่ยังคงมีอยู่ โดยอาจเป็นผลพวงมาจากการที่รัฐบาลจัดชุดมาตรการส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบภาษีและไม่ใช่ภาษี
โดยเฉพาะในปี 2566 สำหรับพื้นที่ EEC หากกิจการที่มีการลงทุนวิจัยและพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้กับไทยด้วยนั้นจะมีการให้สิทธิประโยชน์ในกลุ่มธุรกิจประเภท A+ โดยจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมอีก 2 ปี หรือ กลุ่ม A1-A4 จะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เพิ่มอีก 3 ปี ซึ่งยังไม่นับรวมสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนอื่น ๆ อีก ทั้งนี้หากนักลงทุน หรือนักธุรกิจรายใหม่ที่กำลังมองหาพื้นที่การลงทุนเพื่อประกอบธุรกิจในพื้นที่ EEC ได้จัดแบ่งเขตส่งเสริมที่ประกาศแล้วดังนี้
เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ 7 แห่ง คือ
1.เขตส่งเสริมรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
2.เขตส่งเสริม อุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd)
3. เขตส่งเสริมศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจร
4. เขตส่งเสริมนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi)
5. เขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก
6. เขตส่งเสริมการแพทย์จีโนมิกส์
7. เขตส่งเสริมศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูงบ้านฉาง
ส่วนเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการอุตสาหกรรม มีด้วยกัน 26 แห่ง กระจายอยู่ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา, ชลบุรี และระยอง อาทิ นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอระยอง 36, นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ชลบุรี และนิคมอุตสาหกรรม ที เอฟ ดี 2 ในจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นต้น และเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษรูปแบบอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษเฉพาะด้าน (Cluster) ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์อนาคตบ้านโพธิ์ และกลุ่มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์บางปะกง ซึ่งทั้งหมดนี้นักลงทุนสามารถตรวจสอบรายละเอียดได้ที่ เว็บไซต์ของ EEC (https://www.eeco.or.th/th/announced-promotion-area) เพื่อให้การลงทุนเป็นไปตามเป้าหมายธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป
ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)
เบอร์โทรศัพท์ : +66 2033 8000