การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย

การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย

      “ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย” เป็นการจัดเก็บภาษีล่วงหน้า โดยกฎหมายกำหนดให้ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่หักภาษีจากเงินได้ที่จ่ายให้แก่ผู้รับทุกครั้งที่จ่ายเงินได้ ซึ่งการหักภาษีต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด หลังจากนั้นให้ผู้จ่ายเงินได้นำเงินภาษีที่หักไว้ส่งกรมสรรพากร

     นับได้ว่า การหักภาษี ณ ที่จ่าย สามารถช่วยบรรเทาภาระของผู้เสียภาษี เมื่อถึงกำหนดยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ได้ เป็นการลดภาระการเสียภาษีก้อนใหญ่ครั้งเดียวในแต่ละปี ด้วยการทยอยนำส่งให้สรรพากรทันทีที่ได้รับรายได้

ผู้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ได้แก่ 

  1. ตามแบบ ภ.ง.ด.3 หมายถึง ผู้จ่ายเงินได้ให้แก่ผู้รับ ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
  2. ตามแบบ ภ.ง.ด.53 หมายถึง ผู้จ่ายเงินได้ให้แก่ผู้รับ ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล

ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายประกอบด้วย 3 องค์ประกอบหลัก ดังต่อไปนี้

  1. ผู้จ่ายเงินได้ เป็นผู้ที่กฎหมายกำหนดให้มีหน้าที่ หักภาษี ณ ที่จ่าย
    โดยเป็นบุคคลธรรมดา เช่น กิจการเจ้าของคนเดียว ห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคล ที่มิใช่นิติบุคคล หรือเป็นนิติบุคคล เช่น บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
  2. เงินได้พึงประเมิน (ที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย) ไม่ใช่เงินได้ที่ได้รับยกเว้น
  3. ผู้มีเงินได้ เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้  โดยเป็นบุคคลธรรมดา เช่น กิจการเจ้าของคนเดียว ห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคล ที่มิใช่นิติบุคคล หรือเป็นนิติบุคคล เช่น บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

โดยผู้ประกอบการ SME ไม่ว่าจะประกอบกิจการในลักษณะบุคคลธรรมดา เช่น กิจการเจ้าของคนเดียว ห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคล ที่มิใช่นิติบุคคล หรือประกอบกิจการในลักษณะนิติบุคคล เช่น บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เมื่อจ่ายเงินได้ประเภทที่กฎหมายกำหนด ให้หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยต้องปฏิบัติดังนี้

  1. มีและใช้เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (เว้นแต่บุคคลธรรมดาที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้ใช้เลขประจำตัวประชาชนแทน) 
  2. หักภาษี ณ ที่จ่าย ทุกคราวที่จ่ายเงินได้ ซึ่งมีกฎหมายกำหนดให้หักภาษี ณ ที่จ่าย ตามอัตราร้อยละที่กฎหมายกำหนดไว้   
  3. ออกหนังสือรับรอง การหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้แก่ผู้ถูกหักภาษี เพื่อเป็นหลักฐานประกอบการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้
  4. ในกรณีที่เป็นรัฐบาล องค์การ ของรัฐบาล เทศบาล สุขาภิบาล หรือองค์การบริหาร ราชการส่วนท้องถิ่นอื่น ให้เจ้าพนักงานผู้จ่ายเงินได้ ออกใบรับ สำหรับค่าภาษีที่ได้หักไว้ให้แก่ผู้รับเงิน 

     นำส่งภาษีที่ได้หักไว้ ภายใน 7 วัน นับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงิน ต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในท้องที่ที่ผู้มีหน้าที่หักภาษี เงินได้ ณ ที่จ่าย มีสำนักงานตั้งอยู่

 

แหล่งที่มา : กรมสรรพากร 90 ซอยพหลโยธิน 7 แขวงพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400

เบอร์ติดต่อ : 0 2272 8000

 

ข้อมูลเพิ่มเติม 1

ข้อมูลเพิ่มเติม 2

 


ความคิดเห็น


ประเด็นที่เกี่ยวข้อง

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,290,297