นิติบุคคลที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้

นิติบุคคลที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้

     หลายคนมองว่าการเสียภาษีเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ยุ่งยาก เข้าใจยาก  แต่การเสียภาษีก็มีความสำคัญและเป็นความรับผิดชอบ  เป็นการแสดงออกที่ดีของการเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ  ซึ่งในความเป็นจริงถ้าเราได้เรียนรู้กระบวนการขั้นตอนต่าง ๆ ในการเสียภาษี  รวมไปถึงความก้าวหน้าในเทคโนโลยีก็จะเห็นว่าในปัจจุบันการเสียภาษีไม่ใช่เรื่องซับซ้อนยุ่งยากอีกต่อไป

     นิติบุคคล ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของบุคคล หรือคณะบุคคล จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย เพื่อดำเนินธุรกิจที่แสวงหาผลกำไร มีหน้าที่ต้องเสียภาษีโดยทั้งสิ้น  ซึ่งนิติบุคคลที่ต้องเสียภาษีมีรูปแบบต่าง ๆ ดังนี้     

1. บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ได้แก่

  • ก. บริษัท จำกัด
  • ข. บริษัทมหาชน จำกัด
  • ค. ห้างหุ้นส่วนจำกัด
  • ง. ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน

2. บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย ต่อเมื่อเข้าเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

  • ก. บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างประเทศนั้น เข้ามากระทำกิจการในประเทศไทย (มาตรา 66 วรรคแรก แห่งประมวลรัษฎากร)
  • ข. บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างประเทศนั้น กระทำกิจการในที่อื่น ๆ รวมทั้งในประเทศไทย (มาตรา 66 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร)
  •  ค. บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างประเทศนั้น กระทำกิจการอื่น ๆ รวมทั้งในประเทศไทยและกิจการที่กระทำนั้นเป็นกิจการขนส่งระหว่างประเทศ (มาตรา 67 แห่งประมวลรัษฎากร)
  • ง. บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างประเทศนั้น มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย แต่ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) (3) (4) (5) หรือ (6) ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย (มาตรา 70)
  • จ. บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างประเทศ ที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย ตามมาตรา 76 วรรคสอง และมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ได้จำหน่ายเงินกำไร หรือเงินประเภทอื่นที่กันไว้จากกำไร หรือถือได้ว่าเป็นเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย (มาตรา 70 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร)
  • ฉ. บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างประเทศนั้น มิได้เข้ามาทำกิจการในประเทศไทยโดยตรง หากแต่มีลูกจ้าง หรือผู้ทำการแทน หรือผู้ทำการติดต่อ ในการประกอบกิจการในประเทศไทย ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับเงินได้ หรือผลกำไรในประเทศไทย (มาตรา 76 ทวิ)

3. กิจการซึ่งดำเนินการเป็นทางค้า หรือหากำไร โดย

  • ก. รัฐบาลต่างประเทศ
  • ข. องค์การของรัฐบาลต่างประเทศ
  • ค. นิติบุคคลอื่นที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ

4. กิจการร่วมค้า (Joint Venture) ได้แก่ กิจการที่ดำเนินการร่วมกันเป็นทางค้าหรือหากำไร ระหว่างบุคคลดังต่อไปนี้คือ

  • ก. บริษัทกับบริษัท
  • ข. บริษัทกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
  • ค. ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
  • ง. บริษัท และ/หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับบุคคลธรรมดา
  • จ. บริษัท และ/หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
  • ฉ. บริษัท และ/หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับห้างหุ้นส่วนสามัญ
  • ช. บริษัท และ/หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับนิติบุคคลอื่น

5. มูลนิธิ หรือสมาคม ที่ประกอบกิจการซึ่งมีรายได้ แต่ไม่รวมถึงมูลนิธิ หรือสมาคม ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดให้เป็นองค์การ หรือสถานสาธารณกุศล

6. นิติบุคคลที่อธิบดีกำหนด โดยอนุมัติรัฐมนตรีและประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้เป็นบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามประมวลรัษฎากร

แหล่งที่มา : กรมสรรพากร 90 ซอยพหลโยธิน 7 แขวงพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400

เบอร์ติดต่อ : 0 2272 8000


ข้อมูลเพิ่มเติม 1

ข้อมูลเพิ่มเติม 2

 


ความคิดเห็น


ประเด็นที่เกี่ยวข้อง

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,292,858