ภาษีเงินได้นิติบุคคล คำนวณจากกำไรสุทธิ

ภาษีเงินได้นิติบุคคล คำนวณจากกำไรสุทธิ

     การเสียภาษีเงินได้ของนิติบุคคล โดยใช้การคำนวณกำไรสุทธิ จะต้องใช้เกณฑ์สิทธิ หมายถึง ให้นำรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใด แม้ว่าจะยังไม่ได้รับชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น มารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น และให้นำรายจ่ายทั้งหมดที่เกี่ยวกับรายได้นั้น แม้จะยังไม่ได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น มารวมคำนวณเป็นรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชี  โดยนิติบุคคลที่ต้องเสียภาษีเงินได้โดยการคำนวณจากกำไรสุทธิ ได้แก่

1. บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย

  • ก. บริษัท จำกัด
  • ข. บริษัทมหาชน จำกัด
  • ค. ห้างหุ้นส่วน จำกัด
  • ง. ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน

     บริษัทห้างห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย มีสาขาไม่ว่าจะอยู่ใน หรือนอก ประเทศไทย จะต้องนำกำไรสุทธิของสาขามารวมกำไรสุทธิของสำนักงานใหญ่ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลใน ประเทศไทย

2. บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย ได้แก่

  • ก. บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และกระทำกิจการในที่อื่น ๆ รวมทั้งในประเทศไทย จะต้องนำกำไรสุทธิเฉพาะที่ได้จากการกระทำกิจการในประเทศไทย มาเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
  • ข. บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ มีลูกจ้าง หรือผู้ทำการแทน หรือผู้ทำการติดต่อในการประกอบกิจการในประเทศไทย ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับเงินได้ หรือผลกำไรในประเทศไทย ให้ถือว่าบุคคลผู้จ้างเป็นลูกจ้าง หรือผู้ทำการแทน หรือผู้ทำการติดต่อเช่นว่านั้นไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล เป็นตัวแทนของบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และให้บุคคลนั้นมีหน้าที่และความรับผิดชอบ ในการยื่นรายการและเสียภาษีเงินได้ เฉพาะที่เกี่ยวกับเงินได้ หรือผลกำไรดังกล่าว

3. กิจการซึ่งดำเนินการเป็นทางการค้า หรือหากำไร โดยรัฐบาลต่างประเทศ องค์การของรัฐบาลต่างประเทศ หรือนิติบุคคลอื่น ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ

4. กิจการร่วมค้า

 

ข้อมูล ณ วันที่ 14 พฤศจิกายน 2563

แหล่งที่มา : กรมสรรพากร 90 ซอยพหลโยธิน 7 แขวงพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400 

เบอร์ติดต่อ : 0 2272 8000

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

 


ความคิดเห็น


ประเด็นที่เกี่ยวข้อง

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,284,829