ภาษีเงินได้นิติบุคคล คำนวณจากยอดรายได้ก่อนหักรายจ่าย

ภาษีเงินได้นิติบุคคล คำนวณจากยอดรายได้ก่อนหักรายจ่าย

     การเสียภาษีของนิติบุคคลจะถูกคำนวณจากเงินได้ที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษี  โดยฐานภาษีเงินได้ของนิติบุคคลนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ลักษณะ คือ กำไรสุทธิ, การจำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย, เงินที่จ่ายจากหรือในประเทศ และยอดรายได้ก่อนหักรายจ่าย

     ภาษีเงินได้นิติบุคคล  ที่คำนวณจากยอดรายได้ก่อนหักรายจ่าย  โดยนิติบุคคลที่มีหน้าที่เสียภาษี ได้แก่ กิจการขนส่งระหว่างประเทศของบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างประเทศ และมูลนิธิ หรือสมาคมที่ประกอบกิจการแล้วมีรายได้  มีรายละเอียดต่าง ๆ ดังนี้

  • กรณีกิจการขนส่ง
    • กรณีรับขนคนโดยสาร รายได้เกิดจากค่าโดยสาร ค่าธรรมเนียมและประโยชน์อื่นใดที่เรียกเก็บใน ประเทศไทย ก่อนหักรายจ่ายใด ๆ เนื่องในการรับขนคนโดยสารนั้น ให้คำนวณภาษี อัตราภาษี ร้อยละ 3 

     ฐานภาษีสำหรับการให้บริการรับขนคนโดยสาร ซึ่งต้องนำไปรวมคำนวณเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้คำนวณจากมูลค่าของค่าโดยสารที่ได้รับ หรือพึงได้รับ  สำหรับระยะทางจากต้นทางถึงปลายทางตามที่ระบุในตั๋วโดยสาร รวมถึงค่าธรรมเนียมและผลประโยชน์อื่นใด ที่เรียกเก็บจากคนโดยสาร  อันเนื่องมาจากการให้บริการรับขนคนโดยสาร ไม่ว่าบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น จะให้บริการรับขนเองทั้งหมด หรือให้ผู้ประกอบการอื่นรับขนส่งช่วงให้

    • รับขนของ รายได้เกิดจากค่าระวาง ค่าธรรมเนียม และประโยชน์อื่นใดที่เรียกเก็บ ไม่ว่าในหรือนอกประเทศ ก่อนหักรายจ่ายใด ๆ  ให้คำนวณภาษีอัตรา ร้อยละ 3 

     ฐานภาษี สำหรับการให้บริการรับขนสินค้า ซึ่งต้องนำไปรวมคำนวณเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้คำนวณ  จากมูลค่าของค่าระวางที่ได้รับ หรือพึงได้รับ  สำหรับระยะทางจากต้นทางถึงปลายทางตามที่ระบุในแอร์เวย์บิล 

     รับขนสินค้าโดยอากาศยาน หรือสำหรับระยะทางถึงปลายทางตามที่ระบุใน Bill of Lading ในกรณีรับขน สินค้าโดยเรือทะเล รวมถึงค่าธรรมเนียมและประโยชน์อื่นใดที่ เรียกเก็บจากผู้รับบริการอันเนื่องมาจากการให้บริการรับขนสินค้า ไม่ว่าสายการบิน หรือสายการเดินเรือนั้น จะให้บริการรับขนเองทั้งหมด หรือให้ผู้ประกอบการอื่นรับขนส่งช่วงให้

  • กรณีมูลนิธิ หรือสมาคม

     มูลนิธิ หรือสมาคมใด มิได้จดทะเบียนการจัดตั้งให้ถูกต้องตามกฎหมาย จะมีฐานะเป็นเพียงคณะบุคคล ซึ่งอาจจะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เช่น บริษัทจัดตั้งสโมสรสำหรับพนักงาน เพื่อดำเนินกิจกรรม สันทนาการสำหรับพนักงาน  หรือนักศึกษาจัดตั้งสโมสร หรือชมรมต่าง ๆ โดยไม่ได้ผูกพันกับนิติบุคคลใดโดยเฉพาะ ย่อมมีฐานะเป็นห้างหุ้นส่วน หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ซึ่งจะต้องเสียภาษีเงินได้อย่างบุคคลธรรมดา แม้ว่าจะไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อการค้า หรือเพื่อที่จะแบ่งปันกำไรก็ตาม

     รายได้ของมูลนิธิ หรือสมาคม ที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล จะรวมถึงรายได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะได้มาจากทางใด ๆ เช่น รายได้จากการขายสินค้าและบริการ ดอกเบี้ย ค่าเช่า เงินปันผล ฯลฯ

รายได้ของมูลนิธิหรือสมาคมที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 65 ทวิ (13) ได้แก่

  1. ค่าลงทะเบียน หรือค่าบำรุงที่ได้รับจากสมาชิก
  2. เงิน หรือทรัพย์สิน ที่ได้รับจากการรับบริจาค
  3. เงิน หรือทรัพย์สิน ที่ได้รับจากการให้โดยเสน่หา

     การยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่มูลนิธิ หรือสมาคม เฉพาะเงินได้จากกิจการโรงเรียนเอกชน ซึ่งได้ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน แต่ไม่รวมถึงเงินได้จากการขายของ การรับจ้างทำของ หรือการให้บริการอื่นใด ที่โรงเรียนเอกชนซึ่งเป็นโรงเรียนประเภทอาชีวศึกษา ได้รับจากผู้ซึ่งมิใช่นักเรียน (มาตรา 5 นว แห่งพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500)

มูลนิธิและสมาคม ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ดังนี้

  1. เงินได้ประเภทที่ 8 เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง หรือ การอื่นๆ เสียภาษีร้อยละ 2 ของรายได้ก่อนหักรายจ่าย
  2. เงินได้อื่น ๆ นอกจาก (ก) เสียภาษีร้อยละ 10 ของรายได้ก่อนหักรายจ่าย

     การคำนวณภาษีเงินได้ของมูลนิธิ หรือสมาคม จะต้องคำนวณตามรอบระยะเวลาบัญชีด้วย

การยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษี

  1. กิจการขนส่งระหว่างประเทศของบริษัท หรือนิติบุคคลต่างประเทศ จะต้องยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล ภายใน 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี  กิจการขนส่งระหว่างประเทศ มิต้องยื่นเสียภาษีครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี แบบแสดงรายการที่ใช้ยื่นคือ ภ.ง.ด.52 (ยื่นรอบระยะเวลาบัญชี ละ 1 ครั้ง)
  2. มูลนิธิและสมาคม ที่ประกอบกิจการมีรายได้ ต้องยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีภายใน 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี  แบบแสดงรายการที่ใช้ยื่นคือ ภ.ง.ด.55 (ยื่นรอบระยะเวลาบัญชีละ 1 ครั้ง) ในการยื่นแบบแสดงรายการ มูลนิธิและสมาคมต้องแสดงบัญชีรายได้ก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ที่มีผู้สอบบัญชี ตามมาตรา 3 ส่งตรวจสอบและรับรอง ในรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวด้วย แต่ไม่ต้องแนบงบดุลแต่อย่างใด

      

 

ข้อมูล ณ วันที่ 5 มกราคม 2564

แหล่งที่มา : กรมสรรพากร 90 ซอยพหลโยธิน 7 แขวงพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400

เบอร์ติดต่อ : 0 2272 8000

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

 

 


ความคิดเห็น


ประเด็นที่เกี่ยวข้อง

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,286,178