การโจมตีด้วยระเบิดกัมมันตรังสี (Dirty Bomb) แม้ยังไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย หรือไม่เคยเกิดขึ้นทั่วโลก แต่ถือเป็นภัยคุกคามที่เกี่ยวข้องกับนิวเคลียร์ และรังสี ที่มีความเสี่ยงในการถูกนำใช้ก่อเหตุร้ายได้ ทำให้นานาประเทศมีการตื่นตัววางแนวทางรับมือ และป้องกัน
การฝึก “ราชพฤกษ์” เป็นหนึ่งในแผนการรับมือด้านการแพทย์ฉุกเฉินจากเหตุ Dirty Bomb ผ่านการจำลองสถานการณ์การก่อการร้าย และการก่อวินาศกรรม เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมหากเกิดเหตุฉุกเฉิน โดยมีตัวแทนจากประเทศไทย และหน่วยงานด้านการแพทย์ และด้านการตอบสนองเหตุทางนิวเคลียร์ และรังสีจาก 12 ประเทศ ร่วมฝึกซ้อม
นอกจากนี้ยังมีการอภิปรายแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และองค์ความรู้ โดยผู้เชี่ยวชาญจากหลายประเทศ ช่วยเสริมทักษะ และประสิทธิภาพการรับมือ ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังเหตุการณ์ทางรังสี รวมถึงภัยจากกัมมันตรังสี ทำให้ได้เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ และได้ทบทวนการปฏิบัติระดับชาติ ผ่านการฝึก และได้แนวคิดที่สำคัญเกี่ยวกับวิธีระดมทรัพยากรที่จะตอบสนองต่อเหตุการณ์รังสีอย่างมีประสิทธิภาพ
ในทางการแพทย์ มีการนำสารกัมมันตภาพรังสีและรังสีก่อไอออน มาใช้ประโยชน์ในการวินิจฉัย และการรักษาโรค เช่น นำมาใช้ในเครื่องเอกซเรย์ การฉายรังสีรักษามะเร็ง การรักษาต่อมไทรอยด์เป็นพิษ และมะเร็งไทรอยด์ การฝังแร่รักษามะเร็ง หรือที่เรียกว่า เวชศาสตร์นิวเคลียร์ และกัมมันตภาพรังสีเหล่านี้สามารถนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของอุปกรณ์ในการก่อการร้ายและการก่อวินาศกรรมได้
ข้อมูล ณ วันที่ 16 พ.ค. 66
แหล่งที่มา : สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล
เลขที่ 1 ถนนนครปฐม เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300
เบอร์ติดต่อ : 0 2280 9000