ไทยเตรียมประกาศให้ กระดาษสัมผัสอาหาร และแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า เป็นสินค้าควบคุม ภายในปี 2567

ไทยเตรียมประกาศให้ กระดาษสัมผัสอาหาร และแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า เป็นสินค้าควบคุม ภายในปี 2567

     ในภาวะที่พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ผู้คนหันมาทำอาหารด้วยตนเองมากขึ้น ทำให้สินค้าที่เกี่ยวข้อง เช่น กระดาษสัมผัสอาหารสำหรับปรุงอาหารด้วยความร้อน มีปริมาณความต้องการที่สูงขึ้น เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งช่วยประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการก่อมลพิษ มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องตามความต้องการของผู้ใช้รถยนต์  

     เพื่อยกระดับการคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม จึงเตรียมประกาศให้กระดาษสัมผัสอาหาร สำหรับปรุงอาหารด้วยความร้อน และแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า เป็นสินค้าควบคุม มีผลบังคับในปี 2567 เนื่องจากทั้งกระดาษสัมผัสอาหาร และแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า มีปริมาณการใช้ที่เพิ่มมากขึ้น โดยกระดาษสัมผัสอาหาร สำหรับปรุงอาหารด้วยความร้อน ครอบคลุมถึงกระดาษที่ใช้ในการทำอาหารที่ต้องผ่านความร้อน เช่น กระดาษที่ใช้กับหม้ออบลมร้อน ถุงชา กระดาษกรองกาแฟ กระดาษรองเบเกอรี่ในเตาอบ หากมีการผลิตสินค้าไม่ได้มาตรฐาน อาจมีสารโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว แคดเมียม โครเมียม ปรอท ฯลฯ ปนเปื้อนออกมากับอาหาร ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นอันตรายต่อร่างกาย

     ข้อกำหนดในการควบคุมการปนเปื้อนของสารโลหะหนัก ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เมื่อกระดาษถูกความร้อน ต้องมีการปนเปื้อนไม่เกินเกณฑ์ที่มาตรฐานกำหนด และต้องไม่มีสารฟอกนวล และสารต้านจุลินทรีย์ ที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย 

     แบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งทำหน้าที่กักเก็บพลังงานเพื่อป้อนกระแสไฟฟ้าให้แก่ระบบขับเคลื่อนของยานยนต์ไฟฟ้า เช่น มอเตอร์ไซค์ รถตุ๊กตุ๊ก รถสามล้อขนาดเล็ก รถยนต์ รถกระบะ รถบัส รถบรรทุก  รวมทั้งแบตเตอรี่ในรถยนต์ไฮบริด เป็นต้น ยกเว้นแบตเตอรี่ที่ทำจากตะกั่วกรด หากมีการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน สารเคมีซึ่งอยู่ในแบตเตอรี่ที่อาจติดไฟได้ ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ขับขี่ และผู้ร่วมใช้รถใช้ถนน และที่อยู่อาศัยได้ 

     คาดว่าภายในปี 2567 จะสามารถประกาศให้กระดาษสัมผัสอาหาร และแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นสินค้าควบคุมได้ เช่นเดียวกับสินค้าอีกจำนวน 140 รายการ ที่ประกาศเป็นสินค้าควบคุมเนื่องจากเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์ของประชาชน 

ข้อมูล ณ วันที่ 2 พ.ค.66
แหล่งที่มา :สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล
เลขที่ 1 ถนนนครปฐม เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300
เบอร์ติดต่อ : 0 2280 9000

ข้อมูลเพิ่มเติม1
ข้อมูลเพิ่มเติม2


ความคิดเห็น


ประเด็นที่เกี่ยวข้อง

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,291,579