สำหรับแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย จะได้รับความคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานเหมือนกับผู้ประกันตนคนไทย แต่แรงงานต่างด้าวต้องขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย และขึ้นทะเบียนในระบบประกันสังคม หลังจากนั้นจะได้รับการคุ้มครอง 7 กรณี ดังนี้
1. กรณีคลอดบุตร
2. กรณีการสงเคราะห์บุตร
3. กรณีเจ็บป่วย หรือได้รับอันตรายจากการทำงาน
4. กรณีทุพพลภาพ
5. กรณีชราภาพ
6. กรณีว่างงาน
7. กรณีเสียชีวิต
ทั้งนี้ เงื่อนไขและการคุ้มครอง "แรงงานต่างด้าว" จะคลอบคลุมกลุ่มที่เข้ามาทำงานถูกกฎหมาย หรือเป็นแรงงานที่มีหนังสือเดินทาง หรือเอกสารแสดงตัวแทนหนังสือเดินทาง (Passport) และมีใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) กลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ และทำงานชั่วคราว รวมถึงกลุ่มแรงงานที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติกับประเทศต้นทาง ซึ่งทั้งหมดจะต้องผ่านการพิสูจน์สัญชาติ โดยมีหนังสือเดินทางชั่วคราว (Temporary Passport) หรือเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of identity) และใบอนุญาตการทำงาน (Work permit)
สำหรับเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการขึ้นทะเบียนของลูกจ้างชาวต่างชาติ คนต่างด้าว และบุคคลที่ราบสูง คือ แบบขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน สปส.1-03, สำเนาหนังสือเดินทาง (Passport) หรือเอกสารแสดงตัวแทนหนังสือเดินทาง สำเนาใบอนุญาตทำงาน (Work Permit), สำเนาเอกสารการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวกรณีพิเศษ (Smart Visa) หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการทำประกันสังคมสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประกันสังคม หรือโทรสายด่วน 1506 ให้บริการทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง
ส่วนการบอกเลิกสัญญา นายจ้างต้องบอกกล่าวให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้า 1 เดือน หรือจ่ายเงินค่าจ้าง 1 เดือน แทนการบอกเลิกสัญญา หรือให้เป็นไปตามกฎหมายแรงงานไทย รวมทั้งนายจ้างต้องจ่ายค่าเดินทางกลับประเทศให้แก่ลูกจ้างด้วย กรณีลูกจ้างประสงค์บอกเลิกสัญญา ลูกจ้างต้องบอกกล่าวให้นายจ้างทราบล่วงหน้า 1 เดือนและต้องจ่ายค่าเดินทางกลับประเทศด้วยตนเอง
ทั้งนี้ หากเกิดภัยธรรมชาติ การจลาจล การสู้รบ หรือ การสงคราม และถ้าสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวยให้ทำงานต่อไป นายจ้างต้องอพยพลูกจ้างไปอยู่ในที่ปลอดภัยและส่งลูกจ้างกลับประเทศโดยนายจ้างเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด
ที่มา : กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน
เบอร์โทรศัพท์ : 0 2248 7289