คำแนะนำสำหรับการท่องเที่ยวทางน้ำ

คำแนะนำสำหรับการท่องเที่ยวทางน้ำ

คำแนะนำสำหรับการท่องเที่ยวทางน้ำ

    การท่องเที่ยวทางน้ำเป็นอีกรูปแบบการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมสูง โดยเฉพาะสถานที่ยอดฮิตอย่างทะเลของไทยที่ความสวยงามติดระดับโลก ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาสัมผัสความงดงามใต้ท้องทะเลไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งกิจกรรมสุดฮิตคงหนีไม่พ้นการดำน้ำดูปลา ปะการัง ซึ่งก็มีให้เลือกทั้งดำน้ำแบบตื้น เหมาะสำหรับมือสมัครเล่น และอีกประเภทคือดำน้ำลึกที่ต้องอาศัยความชำนาญ มีผู้เชี่ยวชาญแนะนำ นักดำน้ำทุกคนจะต้องปฏิบัติตามกฎความปลอดภัยในการดำน้ำที่ทั่วโลกใช้กัน และที่สำคัญต้องไม่ทำลายทรัพยากรทางทะเล

สิ่งที่นักดำน้ำควรปฏิบัติทุกครั้งที่ลงสู่ท้องทะเล มีดังต่อไปนี้

  1. ใช้ตะกั่วถ่วงน้ำหนักให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อป้องกันการจมลงไปกระแทกแนวปะการัง 
  2. พยายามว่ายน้ำในแนวราบเสมอ รักษาระยะห่างจากแนวปะการัง เพื่อป้องกันเมื่อกระแสน้ำแรงอาจจะพัดร่างกายไปกระแทกปะการังได้ 
  3. ควบคุมการใช้ตีนกบ ระวังอย่าให้ไปถูกแนวปะการัง
  4. หลีกเลี่ยงการดิ่งลงสู่พื้นในกรณีที่ยังไม่ชำนาญ ควรจะค่อย ๆ ไต่ลงตามสายสมอ
  5. เก็บอุปกรณ์ที่เป็นสายให้เรียบร้อย 
  6. อย่าเก็บสิ่งของจากท้องทะเล ไม่ว่าจะเป็นปะการัง กัลปังหา โดยเด็ดขาด
  7. อย่ายืนพักตัวบนปะการัง และแตะต้องแนวปะการัง
  8. อย่าสัมผัสหรือจับต้องสัตว์น้ำทุกชนิด
  9. หากพบขยะใต้ท้องทะเลโปรดเก็บมาทิ้งในถังขยะบนเรือหรือที่ชายฝั่ง
  10. จอดเรือกับทุ่นจอดเรือของอุทยานแห่งชาติ หรือบริเวณที่อุทยานแห่งชาติกำหนด

ทั้งนี้ สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้มีข้อแนะนำถึงกฎความปลอดภัยทางน้ำที่สำคัญ ดังนี้

  • ไม่ว่ายน้ำคนเดียว ควรว่ายน้ำเป็นกลุ่ม เพราะหากเกิดเหตุขึ้นจะมีคนให้ความช่วยเหลือ
  • ควรว่ายน้ำขนานฝัง เพราะหากหมดแรงจะว่ายน้ำเข้าฝั่งได้ใกล้ ๆ 
  • ไม่ว่ายน้ำ/เล่นน้ำในเวลากลางคืน เพราะช่วงใกล้รุ่งและใกล้ค่ำ เป็นช่วงเวลาที่สัตว์ออกหากิน อาจเกิดอันตรายได้ 
  • ไม่ควรเล่นน้ำขณะฝนตก หรือฝนฟ้าคะนอง เพราะความเย็นอาจทำให้เกิดตะคริวได้
  • ไม่กระโดดลงน้ำบริเวณน้ำตื้น หรือน้ำขุ่น เพราะไม่ทราบสภาพใต้น้ำ ที่อาจมีตอไม้ กิ่งไม้ ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้
  • ไม่ควรลงเล่นน้ำหากดื่มสุรา เมายา อดนอน อ่อนเพลีย เพราะทำให้ควบคุมกล้ามเนื้อไม่ได้ อาจเป็นตะคริว และไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้
  • เตรียมอุปกรณ์สำหรับช่วยชีวิตไว้เสมอ เช่น ชูชีพ ขวดน้ำดื่มพลาสติก ถังแกลลอนพลาสติก เพื่อช่วยพยุงตัวในน้ำได้นาน ๆ 
  • การช่วยคนตกน้ำ ควรใช้อุปกรณ์เป็นวิธีที่ดีที่สุดและปลอดภัยที่สุด หากพบคนตกน้ำ อย่าเข้าไปช่วยเอง ให้ยึดหลัก “ตะโกน โยน ยื่น”
  • แจ้งเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อให้การช่วยเหลือ หรือยื่นอุปกรณ์ให้คนตกน้ำจับ เพื่อดึงเข้าฝั่ง

 


ที่มา : สำนักอุทยานแห่งชาติ เลขที่ 61 อาคารสืบ นาคะเสถียร ชั้น 7-9 ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900  โทร. 0 2562 0760 

     กองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค เลขที่ 88/21 อาคาร 10 ชั้น 5 ตึกกรมควบคุมโรค ถนนติวานนท์ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000 โทร. 0 2590 3867

 

ข้อมูลเพิ่มเติม 1

ข้อมูลเพิ่มเติม 2

 


ความคิดเห็น


ประเด็นที่เกี่ยวข้อง

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,297,237