ฤดูกาลของประเทศไทย

ฤดูกาลของประเทศไทย

ฤดูกาลของประเทศไทย

ฤดูกาลของประเทศไทย สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ฤดู ดังนี้

  1. ฤดูร้อน ระหว่างกลางเดือนกุมภาพันธ์ ถึงกลางเดือนพฤษภาคม
  2. ฤดูฝน ระหว่างกลางเดือนพฤษภาคม ถึงกลางเดือนตุลาคม
  3. ฤดูหนาว ระหว่างกลางเดือนตุลาคม ถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์

     ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนใกล้เส้นศูนย์สูตร ทำให้มีภูมิอากาศแบบร้อนชื้น อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ระหว่าง 18 - 38 องศาเซลเซียส มีช่วงฤดูร้อนยาวนานประมาณ 3 เดือน โดยอากาศจะร้อนที่สุดช่วงกลางเดือนเมษายน หลังจากนั้นภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝน 6 เดือน และฤดูหนาว 3 เดือน ตามลำดับ

     “ฤดูร้อน” เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และเป็นระยะที่ขั้วโลกเหนือหันเข้าหาดวงอาทิตย์ โดยเฉพาะเดือนเมษายน บริเวณประเทศไทยมีดวงอาทิตย์อยู่เกือบตรงศีรษะในเวลาเที่ยงวัน ทำให้ได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์เต็มที่ อากาศจึงร้อนอบอ้าวทั่วไป แม้ว่าในฤดูร้อนจะมีอากาศร้อน และแห้งแล้ง แต่บางครั้งอาจมีมวลอากาศเย็นจากประเทศจีน แผ่ลงมาปกคลุมถึงประเทศไทยตอนบน เมื่อมาปะทะกับมวลอากาศร้อนที่ปกคลุมอยู่เหนือประเทศไทย จะก่อให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรง หรืออาจมีลูกเห็บตกก่อให้เกิดความเสียหายได้ ซึ่งพายุฝนฟ้าคะนองที่เกิดขึ้นในฤดูนี้มักเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “พายุฤดูร้อน” โดยลักษณะอากาศในฤดูร้อน พิจารณาจากอุณหภูมิสูงสุดของแต่ละวัน โดยมีเกณฑ์การพิจารณาดังนี้ อากาศร้อน อุณหภูมิระหว่าง 35.0 - 39.9 องศาเซลเซียส และอากาศร้อนจัด อุณหภูมิตั้งแต่ 40.0 องศาเซลเซียส ขึ้นไป

     “ฤดูฝน” เริ่มตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤษภาคม เมื่อมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทย และร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านประเทศไทยทำให้มีฝนชุกทั่วไป ร่องความกดอากาศต่ำนี้ ปกติจะพาดผ่านภาคใต้ในเดือนพฤษภาคม แล้วจึงเลื่อนขึ้นไปทางเหนือ ตามลำดับ จนถึงช่วงประมาณปลายเดือนมิถุนายน จะพาดผ่านอยู่บริเวณประเทศจีนตอนใต้ ทำให้ฝนในประเทศไทยลดลงระยะหนึ่ง และเรียกว่าเป็นช่วงฝนทิ้ง ซึ่งอาจนานประมาณ 1 - 2 สัปดาห์ หรือบางปีอาจเกิดขึ้นรุนแรง และมีฝนน้อยนานนับเดือนในเดือนกรกฎาคม ปกติร่องความกดอากาศต่ำจะเลื่อนกลับลงมาทางใต้ พาดผ่านบริเวณประเทศไทยอีกครั้ง ทำให้มีฝนชุกต่อเนื่อง จนกระทั่งมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ พัดเข้ามาปกคลุมประเทศไทยแทนที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้

     ประมาณกลางเดือนตุลาคม ประเทศไทยตอนบนอากาศจะเริ่มเย็นและฝนลดลง โดยเฉพาะภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ภาคใต้จะยังคงมีฝนชุกต่อไปจนถึงเดือนธันวาคม และมักมีฝนหนักถึงหนักมากจนก่อให้เกิดอุทกภัย โดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งตะวันออก จะมีปริมาณฝนมากกว่าภาคใต้ฝั่งตะวันตก อย่างไรก็ตามการเริ่มต้นฤดูฝนอาจจะช้า หรือเร็วกว่ากำหนดได้ประมาณ 1 - 2 สัปดาห์

เกณฑ์การพิจารณาปริมาณฝนในระยะเวลา 24 ชั่วโมงของแต่ละวัน ตั้งแต่เวลา 07.00 น. ถึงเวลา 07.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ตามลักษณะของฝนที่ตกในประเทศที่อยู่ในเขตร้อนย่านมรสุม มีดังนี้

  • ฝนวัดจำนวนไม่ได้ - ปริมาณฝนน้อยกว่า 0.1 มิลลิเมตร
  • ฝนเล็กน้อย - ปริมาณฝนระหว่าง 0.1 - 10.0 มิลลิเมตร
  • ฝนปานกลาง - ปริมาณฝนระหว่าง 10.1 - 35.0 มิลลิเมตร
  • ฝนหนัก - ปริมาณฝนระหว่าง 35.1 - 90.0 มิลลิเมตร
  • ฝนหนักมาก - ปริมาณฝนตั้งแต่ 90.1 มิลลิเมตรขึ้นไป

     “ฤดูหนาว” เริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมประเทศไทย ในช่วงกลางเดือนตุลาคมนานราว 1 - 2 สัปดาห์ เป็นช่วงเปลี่ยนฤดู จากฤดูฝนเป็นฤดูหนาว อากาศแปรปรวน ไม่แน่นอน อาจเริ่มมีอากาศเย็น หรืออาจยังมีฝนฟ้าคะนอง โดยเฉพาะบริเวณภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออกลงไปซึ่งจะหมดฝน และเริ่มมีอากาศเย็นช้ากว่าภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ


ลักษณะอากาศในฤดูหนาว พิจารณาจากอุณหภูมิต่ำสุดของแต่ละวัน โดยมีเกณฑ์การพิจารณาดังนี้

  • อากาศหนาวจัดอุณหภูมิต่ำกว่า 8.0 องศาเซลเซียส
  • อากาศหนาวอุณหภูมิระหว่าง 8.0 - 15.9 องศาเซลเซียส
  • อากาศเย็นอุณหภูมิระหว่าง 16.0 - 22.9 องศาเซลเซียส

 

ที่มา : กรมอุตุนิยมวิทยา เลขที่ 4353 ถนนสุขุมวิท แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร โทร. 0  2399 4012

ข้อมูลเพิ่มเติม

 


ความคิดเห็น


ประเด็นที่เกี่ยวข้อง

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,289,026