ลักษณะอากาศช่วงฤดูร้อนของไทยปี 2566

ลักษณะอากาศช่วงฤดูร้อนของไทยปี 2566

ลักษณะอากาศช่วงฤดูร้อนของไทยปี 2566

     ฤดูร้อนของประเทศไทยปี 2566 เริ่มในช่วงต้นเดือนมีนาคม และจะสิ้นสุดในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ลักษณะอากาศโดยทั่วไปจะร้อนอบอ้าว และจะมีอากาศร้อนจัดในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะช่วงกลางเดือนมีนาคมถึงปลายเดือนเมษายน สลับกับจะมีฝนฟ้าคะนองในหลายพื้นที่ ซึ่งจะช่วยคลายความร้อนลงได้ อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยประเทศไทยตอนบนประมาณ 35.5 องศาเซลเซียส ใกล้เคียงกับค่าปกติ ซึ่งอยู่ที่ 35.4 องศาเซลเซียส แต่จะสูงกว่าช่วงฤดูร้อนปีที่แล้ว (ปี 2565) ที่อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 34.0 องศาเซลเซียส และปริมาณฝนรวมเฉลี่ยจะใกล้เคียงค่าปกติ

     ช่วงฤดูร้อนของทุกปี มักจะเกิดพายุฤดูร้อนในหลายพื้นที่ จึงควรระวังพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และอาจมีลูกเห็บตกบางแห่ง ซึ่งสภาวะดังกล่าวก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สิน ตลอดจนผลผลิตทางการเกษตรได้

     นอกจากนี้ในกรณีปริมาณฝนที่ตกนั้นมีไม่เพียงพอกับความต้องการในหลายพื้นที่ ทั้งด้านอุปโภค และบริโภค รวมทั้งด้านเกษตรกรรม โดยเฉพาะพื้นที่ที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน ประชาชนควรใช้น้ำอย่างประหยัด ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเตรียมการป้องกันปัญหา

ข้อควรระวัง 

     อัคคีภัยและไฟป่า ในช่วงฤดูร้อนนี้ ลักษณะอากาศจะเอื้ออำนวยต่อการเกิดอัคคีภัย และไฟป่าได้ง่าย  ประชาชนจึงควรต้องระมัดระวังการใช้เชื้อเพลิงในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ไว้ด้วย

     พายุไซโคลน ช่วงปลายเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม อาจมีหย่อมความกดอากาศต่ำก่อตัวขึ้นบริเวณทะเลอันดามัน ซึ่งอาจทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชัน และพายุไซโคลนได้ โดยมีการเคลื่อนตัวทางทิศเหนือค่อนไปทางตะวันออก และอาจเข้าใกล้ด้านตะวันตกของประเทศไทย ซึ่งทำให้บริเวณด้านตะวันตกของทั้งภาคเหนือ และภาคกลาง รวมทั้งภาคใต้จะมีฝนเพิ่มมาก อาจก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากได้

 


ที่มา : กรมอุตุนิยมวิทยา เลขที่ 4353 ถนนสุขุมวิท แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร โทร. 0  2399 4012


ข้อมูลเพิ่มเติม

 


ความคิดเห็น


ประเด็นที่เกี่ยวข้อง

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,283,195