สภาพอากาศทั่วไป ช่วงฤดูร้อนภาคเหนือของไทย

สภาพอากาศทั่วไป ช่วงฤดูร้อนภาคเหนือของไทย

สภาพอากาศทั่วไป ช่วงฤดูร้อนภาคเหนือของไทย

     ฤดูร้อนของประเทศไทยปีนี้เริ่มในช่วงต้นเดือนมีนาคม ซึ่งช้ากว่าปกติประมาณ 2 - 3 สัปดาห์ และสิ้นสุดในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม โดยช่วงประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงช่วงกลางเดือนมีนาคม หลายพื้นที่มีอากาศร้อนในตอนกลางวัน และมีหมอกหนา แต่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้า เนื่องจากความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมตอนบนของภาค แต่จะมีกำลังอ่อนลงและไม่ต่อเนื่อง

     ช่วงกลางเดือนมีนาคมถึงปลายเดือนเมษายนจะมีอากาศร้อนอบอ้าว อากาศร้อนจัดในหลายพื้นที่ อุณหภูมิสูงที่สุด 40 - 43 องศาเซลเซียส และเกิดพายุฤดูร้อน โดยจะมีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง รวมทั้งอาจมีลูกเห็บตกบางแห่ง ซึ่งจะช่วยคลายความร้อนลง เนื่องจากมีหย่อมความกดอากาศต่ำจากความร้อนปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบนเป็นระยะ ๆ ประกอบกับมีลมตะวันออกเฉียงใต้หรือลมใต้พัดพาความชื้นจากทะเลอ่าวไทยเข้าปกคลุม

     ช่วงปลายเดือนเมษายนถึงกลางเดือนพฤษภาคม ลักษณะอากาศจะแปรปรวน โดยยังคงมีอากาศร้อนอบอ้าวในบางช่วง และมีฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่ เนื่องจากลมตะวันออกเฉียงใต้หรือลมใต้ที่พัดปกคลุมเริ่มเปลี่ยนเป็นมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมแทน

คาดหมายสภาพอากาศทั่วไปภาคเหนือ

     อากาศร้อนอบอ้าว และมีอากาศร้อนจัดหลายพื้นที่ในบางช่วง อุณหภูมิสูงที่สุด 40 – 43 องศาเซลเซียส บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน ตาก อุตรดิตถ์ สุโขทัย กำแพงเพชร และเพชรบูรณ์ จะมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ในหลายพื้นที่  รวมทั้งอาจมีลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกได้บางแห่ง ซึ่งจะช่วยคลายความร้อนลงได้

ข้อควรระวัง

  • อัคคีภัยและไฟป่า อากาศในช่วงฤดูร้อนจะทำให้เกิดอัคคีภัย และไฟป่าได้ง่าย ประชาชนจึงควรต้องระมัดระวังการใช้เชื้อเพลิงในการทำกิจกรรมต่าง ๆ 
  • พายุฤดูร้อน ในช่วงฤดูร้อนของทุกปี มักจะเกิดพายุฤดูร้อนในหลายพื้นที่ โดยจะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และอาจมีลูกเห็บตกในบางแห่ง สภาวะดังกล่าวจะก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนผลผลิตทางการเกษตรได้
  • พายุไซโคลน ช่วงปลายเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม อาจจะมีหย่อมความกดอากาศต่ำก่อตัวขึ้นบริเวณทะเลอันดามัน ซึ่งอาจทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชัน และพายุไซโคลนได้ โดยมีการเคลื่อนตัวทางทิศเหนือค่อนไปทางตะวันออก และอาจเข้าใกล้ด้านตะวันตกของประเทศไทย ซึ่งทำให้บริเวณด้านตะวันตกของภาคเหนือจะมีฝนเพิ่มมาก อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้

ที่มา : กรมอุตุนิยมวิทยา เลขที่ 4353 ถนนสุขุมวิท แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร

โทร. 0 2399 4012

ศูนย์อุตุนิยมวิทยา ภาคเหนือ  ถ.สนามบินเชียงใหม่ ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200  

โทร. 0 5327 5463

ข้อมูลเพิ่มเติม 1
ข้อมูลเพิ่มเติม 2

 


ความคิดเห็น


ประเด็นที่เกี่ยวข้อง

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,297,201